จากข้อมูลของแพทยสภา ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 75,199 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธ.ค.66) ผลิตใหม่ปีละ 3,000 คน คิดเป็นสัดส่วนประชากร 1,500 คนต่อแพทย์ 1 คน ขณะที่มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน การขาดแคลนแพทย์ของไทย บวกด้วยการที่ไทยวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub ทำให้ทุกภาคส่วนต่างต้องการเข้ามาปิดช่องว่างดังกล่าว
ล่าสุดมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ร่วมมือกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ตั้งคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ภายใต้ชื่อ St. Luke School of Medicine โดยจะปั้นให้เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย เตรียมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปี 2568 จำนวน 60 คน
ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เล่าว่า คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) และแพทยสภา ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ โดยวิทยาเขตสุวรรณภูมิจะเป็นที่เรียนของนักศึกษาในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นในชั้นคลินิกปี 4 – 6 นักศึกษาจะไปศึกษาและฝึกปฏิบัติยังโรงพยาบาล
ขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อเตรียมขอรับการพิจารณารับรองหลักสูตรและเตรียมทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ จุดเด่นของหลักสูตรจะเป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ เช่น การบริหารธุรกิจ ภาวะผู้นำ และความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับแพทยศาสตร์ เน้นสุขภาวะของผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้ทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้าน Health Economic ระหว่างไทยและจีน รวมถึง Wisconsin Medical School เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาคณาจารย์ ยกระดับมาตรฐานวิชาการในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของสถาบัน ซึ่งในอนาคตจะมีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาอื่นๆ ต่อไป อาทิ พยาบาล เป็นต้น
ทางด้าน นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG ระบุว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เป็นการผสานความสามารถด้านการผลิตบัณฑิตของ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับความเชี่ยวชาญและเครือข่ายทางการแพทย์ของ THG เข้าด้วยกัน โดย THG รับผิดชอบในการจัดตั้งกองทุนคณะแพทยศาสตร์ ตามเกณฑ์การขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของแพทยสภา และจัดหาโรงพยาบาลหลักสำหรับการเรียนการสอนระดับคลินิกและสถาบันพี่เลี้ยง รวมถึงจ้างผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร เครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามเกณฑ์
ส่วนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รับผิดชอบด้านการบริหารบุคลากรและสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเตรียมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2568 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติและรับรองหลักสูตรจากแพทยสภา โดยเปิดรับนักศึกษาทั้งไทยและนานาชาติเข้าเรียนด้วย ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าเรียนจากหลายประเทศ อาทิ จีน พม่า เป็นต้น สำหรับค่าเล่าเรียน 1.2 ล้านบาทต่อปี กรณีเป็นผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จะมีกองทุนฯ ช่วยเหลือ
“เราผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อคืนสู่สังคม ไม่ได้เพื่อรองรับโรงพยาบาลในกลุ่ม เพื่อร่วมแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรการทางแพทย์ และต้องการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้แพทย์มีมุมมองที่เป็นสากลมากขึ้น”
นพ.บุญ วนาสิน ที่ปรึกษาประธานกรรมการ THG กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine จะมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากไทยและต่างประเทศมาเป็นผู้สอน ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบประยุกต์ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ อาทิ นำวิชา anatomy physiology และ clinical medicine มารวมกัน เพื่อทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ และนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนด้วย โดยตั้งเป้าเป็น international medical school หรือ โรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัยสุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
“ปัจจุบันแพทย์ไทยกว่า 500 คน ต้องออกไปเรียนต่างประเทศเพิ่มเติม คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine จึงเข้ามาตอบโจทย์ เพราะนอกจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และ Wisconsin Medical School แล้ว จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศต่างๆ อีกหลายแห่ง เพื่อจัดการเรียนการสอน และแลกเปลี่ยนทางวิชาการร่วมกัน ส่วนการเรียนในชั้นคลินิกร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร”
นพ.บุญ ได้ระบุถึง หมุดหมายของรัฐบาลในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub ว่ามาถูกทางแล้ว แต่เราจะต้องปรับการเรียนรู้ของแพทย์ให้เป็นสากลมากขึ้นให้สอดคล้องกับเทรนด์ของการดูแลสุขภาพที่เน้นป้องกันมากกว่ารักษา เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งตอนนี้ทาง THG เองก็มีแผนการลงทุนทางสร้างคลินิกที่เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness) 100 แห่งภายใน 3 ปีวางเงินลงทุนไว้กว่า 20,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นตั้งในศูนย์กลางชุมชนต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงคนเมือง นำ AI มาช่วยสนับสนุนในการบริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น การปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือการส่งยาไปให้ที่บ้าน เป็นต้น โดยมีแผนจะเปิดแห่งแรกในปลายเดือนนี้ที่สยามพารากอน และต่อไปที่บำรุงเมือง