ประกาศเมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัว The Commission on Social Connection หรือ คณะกรรมาธิการใหม่เพื่อจัดการกับความเหงา หลังจากพบว่า “ไม่ใช่แค่เหงา” แต่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการขาดการเชื่อมต่อทางสังคม ปฐมบทจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งมีผลกระทบทางสังคมต่อเนื่องมาถึงวันนี้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ความวิตกกังวลภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และอื่นๆ
ประธานร่วมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ประกอบไปด้วย Dr. Vivek Murthy ศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา และ Chido Mpemba ทูตเยาวชนสหภาพแอฟริกา คณะกรรมาธิการยังประกอบด้วยผู้กําหนดนโยบายชั้นนํา 11 คน ผู้นําทางความคิด และผู้สนับสนุน ทั้งหมดจะทำงานร่วมกันเป็นเวลา 3 ปี เพื่อภารกิจวิเคราะห์บทบาทสําคัญของการเชื่อมต่อทางสังคม นำไปสู่การปรับปรุงสุขภาพสําหรับคนทุกวัย และหาทางออกในการสร้างการเชื่อมต่อทางสังคมในวงกว้าง
ทำไมถึงกลายเป็นวาระใหญ่ระดับโลกขององค์การอนามัยโลก เนื่องมาจากความโดดเดี่ยวทางสังคม (Social isolation) มากขึ้น และความเหงา (loneliness) กำลังเล่นงานทุกกลุ่มวัยในทุกภูมิภาคอยู่ตอนนี้ พบว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ประสบกับความโดดเดี่ยวทางสังคม ส่วนในหมู่วัยรุ่น พบว่ามีสัดส่วนมากกว่า 5 – 15% ประสบกับความเหงา
“อัตราการโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาสูงทั่วโลก มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี คนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่แข็งแกร่งเพียงพอ มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ความวิตกกังวล ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตายและอื่นๆ ” Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อํานวยการใหญ่ของ WHO บอกที่มา
มีการประเมินว่า การขาดการเชื่อมต่อทางสังคมมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเทียบเท่ากับหรือมากกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่นเลยทีเดียว เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การไม่ออกกําลังกาย โรคอ้วน และมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้การแยกตัวทางสังคมยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การศึกษาแสดงให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า และสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด 30%
การขาดการเชื่อมต่อทางสังคมยังสามารถนําไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่ลงทางการศึกษาด้วย โดยพบว่า วัยรุ่นที่ประสบกับความเหงาในโรงเรียนมัธยมมีแนวโน้มที่จะออกจากมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังสามารถนําไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลง และอาจนําไปสู่ความพึงพอใจและประสิทธิภาพในการทํางานที่แย่ลง
ภัยคุกคามนี้ทำให้คณะกรรมาธิการ WHO ชุดใหม่ จะมากําหนดวาระระดับโลกเกี่ยวกับการเชื่อมต่อทางสังคม สร้างความตระหนัก และสร้างความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาDr.Vivek Murthy ประธานร่วมคณะกรรมาธิการฯ บอกว่า การพัฒนาการเชื่อมต่อทางสังคม เป็นองค์ประกอบสําคัญของความเป็นอยู่ที่ดี เราสามารถร่วมกันสร้างโลกที่เหงาน้อยลง มีสุขภาพดีขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น Dr.Vivek ให้ความสำคัญชนิดที่ว่า ต้องลงทุนแบบเดียวกับการจัดการปัญหาสุขภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสพติด การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน
ส่วน Chido Mpemba ประธานร่วมก็ยืนยันในส่วนของผลกระทบที่แอฟริกา ว่า ความโดดเดี่ยวทางสังคม สามารถส่งผลกระทบต่อทุกคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ พร้อมกับบอกว่า เราต้องมากําหนดนิยามการเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเหงากันใหม่
คณะกรรมาธิการว่าด้วยการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสํานักเลขาธิการที่ WHO จะจัดการประชุมระดับผู้นําครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 6 – 8 ธ.ค. 66 เพื่อผลิตรายงานหลักส่งอาณัติสัญญาณไปยังทั่วโลก สร้างความตระหนักร่วมกัน และนำไปสู่การจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ที่มา : https://www.un.org/africarenewal/magazine/november-2023/who-launches-commission-foster-social-cohesion-and-address-loneliness