รายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 1.35 ล้านคน หรือวันละ 3,700 คน ข้อมูลปี 2564 เพิ่มมาเป็น 1.9 ล้านราย หรือวันละ 5,200 คน
สำหรับข้อมูลของไทยสถิติลดลงตามลำดับหลังจากเราติดท็อปของโลกจนทำให้หลายหน่วยงานนั่งไม่ติด ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 5 ปี (2559-2563) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 20,204 รายต่อปี บาดเจ็บสะสม 5.3 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 ล้านคนต่อปี หรือทุกๆวันมีผู้บาดเจ็บ 2,940 ราย
ในจำนวน 5.3 ล้านรายที่บาดเจ็บเป็นการบาดเจ็บรุนแรงถึง 1 ล้านคน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นคิดเป็นตัวเงินจากการต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ขาดงาน หรือทำงานไม่ได้เหมือนเดิมไป จนถึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และสูญเสียชีวิต
กรณีบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ละรายต้องสูญเสียคิดเป็นตัวเงิน 34,761 บาท บาดเจ็บสาหัส 147,023 บาท กรณีพิการ 6.1 ล้านบาท กรณีเสียชีวิต 5.3 ล้านบาท ซึ่งความสูญเสียเป็นตัวเงินอาจไม่มีใครมาเยียวยาให้ได้เท่าที่สูญเสีย หรือหนักกว่านั้นก็อาจ “ตายฟรี” ไม่กระทบเฉพาะผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่กระทบไปทั้งครอบครัวตามมาด้วยปัญหาครอบครัวมากมาย ต่อเนื่อง และยาวนาน อาจพลิกชีวิตของใครบางคนของครอบครัวนั้นจากฟ้าเป็นหุบเหวได้ ลุกลามบานปลายไปถึงปัญหาสังคม
หลายปีที่ผ่านมาทุกภาคส่วนออกมารณรงค์กันอย่างเต็มที่จนทำให้สถิติลดลง ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (ThaiRSC) ปี 2566 พบไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือ 14,145 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 808,093 ราย ส่วนปี 2567 ณ วันที่ 2 ต.ค. นับจนถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุใหญ่ไฟไหม้รถบัสที่พาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษา ยังไม่เต็มปีมีผู้เสียชีวิต 10,434ราย บาดเจ็บ 635,487 ราย
การขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนนของไทยเป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน(SustainableDevelopmentGoals:SDGs) ข้อที่ 3.6 ที่ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชน บนถนนลงครึ่งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตามกรอบปฏิญญาด้านความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนกันอย่างต่อเนื่องพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน นั่นก็คือพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่สวมหมวกกันน็อค เนื่องจาก 78.8% ของสถิติ 5 ปี (2559-2563) อุบัติเหตุทางถนนมาจากมอเตอร์ไซค์ จึงมุ่งเน้นรณรงค์ในเรื่องการดื่มไม่ขับ และการรณรงค์สวมหมวกกันน็อค
สาเหตุที่เหลืออาจถูกบดบังไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความพร้อมของยานพาหนะ อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสที่พาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษา ทำให้สาเหตุนี้เพิ่งถูกดึงขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ผู้ปกครองหลายครอบครัว ต่างบอกว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใส่ใจกับยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของชีวิตบุตรหลานของเขา
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์ และอดีตที่ปรึกษาด้านการป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Regional advisor WHO SEARO, Ret.) ระบุว่า ปัจจัยด้านยานพาหนะ เป็นจุดอ่อนสำคัญที่สุดของระบบคมนาคมไทย ดังนั้นจึงขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลกรมการขนส่งทางบก ว่ากรมขนส่งทางบก (ขบ.) มีการบังคับโดยกฎกระทรวง ให้พนักงานขับรถโดยสารต้องฝึกด้านความปลอดภัยซ้ำประจำวาระ หรือปฏิบัติซ้ำก่อนจะออกเดินทางทุกครั้งหรือไม่ และหน่วยตรวจต่อใบอนุญาตรถโดยสาร (ตรอ.) ที่ถูกควบคุมโดยกรมการขนส่งทางบกเช่นเดียวกัน ได้มีการตรวจความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรถ เช่น ค้อน ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน ว่า ติดตั้งถูกต้องตามตำแหน่งที่กำหนด การเปิดปิดของประตูฉุกเฉิน และยางรถยนต์เป็นอย่างไร หมดอายุหรือไม่
“เวลานั่งเครื่องบิน ผู้ที่นั่งบริเวณประตูฉุกเฉินจะต้องได้รับการแจ้งจากพนักงานต้อนรับถึงหลักปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น แต่ประเทศไทยไม่มีการกำหนดในรถโดยสาร จึงไม่มีการเน้นย้ำให้ทราบถึงหลักปฏิบัติหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งไฟไหม้ครั้งนี้ถ้าเปิดประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ หรือมีค้อนทุบกระจก น่าจะไม่มีใครเสียชีวิตหรือเสียชีวิตน้อยที่สุด นอกจากนี้ เข้าใจว่าคนขับรถก็คงไม่เคยถูกฝึกซ้อมเปิดประตูฉุกเฉินมาก่อนด้วย”
พญ.ชไมพันธุ์ เสนอว่า น่าจะมีหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ ขนส่งทางบก ลงสอบร่วมกับทีมวิศวยานยนต์และวิศวถนน ทีมสาธารณสุขของนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อรายงานความเป็นจริงทั้ง ถนน รถ คน และระบบ ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการสอบสวนให้รู้สาเหตุที่แท้จริงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
ทางด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ในฐานะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนเชิงระบบ ตั้งแต่แนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันการไปทัศนศึกษาของเด็กมีอยู่ 2 รูปแบบ
1. ไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทัศนศึกษาในช่วงปิดเทอมหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม
2. ทัศนศึกษาแบบพักค้างคืน จะอยู่ในช่วงเทอมสอง 2 ซึ่งจะมีการเดินทางช่วงกลางคืน มีการใช้รถบัสสองชั้น การเกิดอุบัติเหตุจะเกิดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทบทวนอีกเรื่องคือ การเตรียมความพร้อมของสภาพรถ โดยกรมการขนส่งทางบก ต้องเตรียมความพร้อม มีการเข้มงวดตั้งแต่การตรวจสภาพของตัวรถ ความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเพลิงไหม้เกิดขึ้น ขณะที่คณะผู้จัดกิจกรรมไปทัศนศึกษา ต้องวางแผนโดยการลงรายละเอียด ทั้งการเตรียมครูประจำรถ ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้มากเป็นพิเศษ เช่น อาจจะต้องเป็นครูหนึ่งคนต่อ 10 คน เป็นต้น หรือหากเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ หรือเกิดเพลิงไหม้คุณครูก็ต้องรู้จักการใช้ถังดับเพลิง และถ้าจำเป็นต้องอพยพ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการซักซ้อมมาก่อน
THE HUMANS ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่าน เราได้แต่หวังว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย
ที่มาภาพ : กระทรวงมหาดไทย