back to top

วันสุขภาพจิตโลก “องค์กรมีชีวิต คนมีจิตใจ”

ทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันสุขภาพจิตโลก‘ World Mental Health Day 2024 ในปีนี้สหพันธ์สุขภาพจิตโลก กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตในวัยทำงาน “Prioritize Mental Health at Work” “องค์กรมีชีวิต” “คนมีจิตใจ” ส่งเสริมสุขภาวะทางใจ ก้าวไปพร้อมกัน

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าสุขภาพจิตในวัยทำงานเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน โดยพบปัญหาสุขภาพจิต 1 ใน 5 เกิดในที่ทำงาน เช่น เครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล กระทบปัญหาสุขภาพจิตคนทำงาน กระทบผลิตผลของตัวเอง ไปสู่คุณภาพชีวิตไม่ดี และประสิทธิผลขององค์กร 

จึงเสนอแนะให้ทุกองค์กรมาให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัย สงบ ผ่อนคลายในที่ทำงาน ให้ที่ทำงานเป็นที่แห่งการสร้างความหวัง กำลังใจให้คนทำงาน ให้คนทำงานด้วยกันดูแลสุขภาพจิตซึ่งกันและกัน และหากมีปัญหารู้ว่าจะจัดการตัวเอง และขอความช่วยเหลือได้อย่างไร ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีเครื่องมือต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การประเมินสุขภาพจิต และระบบบริการต่างๆ 

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตมีคำแนะนำการจัดการความเครียด โดยเริ่มแรกให้สำรวจตัวเองว่าเครียดหรือไม่โดยให้ดูจากอาการที่แสดงออก คือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่อิ่ม หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่าย โมโหง่าย บางครั้งก็มีทะเลาะวิวาทกับคนใกล้ชิด ซึมเศร้า ไม่อยากพูดกับใคร และหาสาเหตุของความเครียด ซึ่งจริงๆ อยู่ที่ความคิดของเราเอง แล้วทำอย่างไรไม่ให้เครียด

1. ต้องยอมรับว่ามีปัญหาและปัญหาเกิดได้กับทุกคน ฝึกให้กำลังใจตัวเอง ถือว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายความมั่นคงของจิตใจ คิดถึงสิ่งดีๆ ในชีวิตที่มีอยู่ เช่น คุณค่า และความสามารถของตนเอง ครอบครัวที่อบอุ่นลูกหลานที่น่ารัก เป็นต้น และมีความหวังว่า เมื่อได้พยายามแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถแล้ว ย่อมนำพาชีวิตให้พบความสุข

2. เผชิญกับความเป็นจริงและคิดหาทางออก โดยครอบครัวซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญต้องมีเวลาให้กัน รับฟังทุกข์สุขของกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความสุขด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนในที่ทำงานผู้ร่วมงานต้องหันหน้าปรึกษาหารือกันช่วยเหลือกัน และเป็นกำลังใจให้กัน ระลึกว่าปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าใจสู้และร่วมมือร่วมแรงกัน ย่อมเอาชนะปัญหาต่างๆ ได้

3. ผ่อนคลายความเครียดทุกวัน เพราะความเครียดในการทำงานเกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นการผ่อนคลายความเครียดจะต้องทำเป็นประจำทุกวัน เช่น การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬากับเพื่อนๆ หลังเลิกงาน ไปพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง ครอบครัวหรือคนสนิท หรือผ่อนคลายด้วยกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ เช่น ชอปปิ้ง ละคร โทรทัศน์ ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เล่นกับลูกๆ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง รดน้ำต้นไม้ ดูแลไม้ดอกไม้ประดับ ทำงานฝีมือ เย็บปัก ถัก ร้อย ซ่อมแซมของใช้ในบ้าน จัดตกแต่งบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อ่านหนังสือ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ ฝึกหายใจเข้าออกเป็นจังหวะช้าๆ และนับลมหายใจ

ที่สำคัญอย่าเก็บความทุกข์ไว้ในใจ ควรระบายความทุกข์ และขอความช่วยเหลือ โดยการปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด เช่น คู่สมรส เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ญาติ ใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ของกรมสุขภาพจิต หรือหน่วยงานเอกชนอื่นๆ หากรู้สึกมีอาการเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังไม่ควรอยู่ตามลำพัง ควรรีบไปรับการรักษาจากแพทย์เป็นการด่วน โทร. 1323 

ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต