เมื่อถึงจุดหนึ่ง มีหลายเหตุผลที่คู่รักต่างระเบิดอารมณ์ใส่กัน และจบลงด้วยการหันหลังและแยกทางเดิน CAROL S.DWECK นักวิจัยชั้นนำด้านจิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาพัฒนาการ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แนะนำไว้ในหนังสือ mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา แปลโดยพรรณี ชูจิรวงศ์
เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไมความรักของหลายคู่มักกลายเป็นสนามรบที่เต็มไปด้วยเศษซากหัวใจที่แตกสลาย ขณะที่บางคู่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่น่าพึงพอใจและยั่งยืน”
เรื่องนี้มี 2 สิ่งที่มาเกี่ยวข้อง นั่นคือ คนรักและตัวความสัมพันธ์เอง ซึ่งคนจำนวนมากมักจะมี “กรอบคิดแบบตายตัว” อยู่ 3 เรื่อง โดยเชื่อว่าคุณสมบัติของเราเป็นสิ่งตายตัว คุณสมบัติของคนรักเป็นสิ่งตายตัว และความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งตายตัว หมายถึงเชื่อว่าทุกอย่างถูกตัดสิน หรือกำหนดมาแต่แรกแล้วว่าดีหรือแย่ เกิดมาคู่กันหรือไม่?
คนที่มีกรอบคิดตายตัวจะยึดความสัมพันธ์ในอุดมคติที่ต้องสมบูรณ์แบบทันทีที่พวกเขาสานสัมพันธ์กัน และต้องเข้ากันได้ตลอดไป ต้องรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อกันและกัน และครองคู่กันอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์เหมือนนิยายรัก ขณะเดียวกันก็สานสัมพันธ์โดยพกตัวตนมาอย่างเต็มที่
เปรียบเทียบกรอบคิดแบบพัฒนา จะมองว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาได้ ทั้งคนรัก ตัวเราเอง และความสัมพันธ์ ทั้งหมดล้วนเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อทำให้คนรักบรรลุเป้าหมายของเขา และเติมเต็มศักยภาพของตัวเอง CAROL บอกว่าเป็นปกติที่เมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ ต้องเจอกับคนที่แตกต่างจากตัวเอง และไม่รู้จะรับมือกับความแตกต่างนั้นอย่างไร แต่หากเป็นความสัมพันธ์ที่ดี การพัฒนาทักษะในการรับมือกับความแตกต่างเป็นสิ่งจำเป็นไม่ใช่หรือ?
CAROL ยกตัวอย่างของคู่รักที่มีความสัมพันธ์ที่เติบโตและยั่งยืน เธอชื่อ ลอร่า เวลาเธอเอาแต่ใจ ตะคอก หรือทำหน้าบึ้งตึง แฟนของเธอ เจมส์ ไม่เคยเก็บมาใส่ใจ เขารู้อยู่เสมอว่าลอร่าจะเป็นคนที่อยู่เคียงข้างเขาในยามที่เขาต้องการ ดังนั้นเมื่อเธอโวยวาย เขาจะปล่อยให้เธอสงบ และให้ระบายความในใจออกมา เวลาผ่านไปลอร่าก็เรียนรู้ที่จะเลิกตะคอก และทำหน้าบึ้งใส่ เมื่อความไว้วางใจก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็สนใจพัฒนาการของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง เจมส์ กำลังตั้งบริษัท ลอร่าก็ใช้เวลาอยู่กับเขาหลายๆ ชั่วโมง เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการและปัญหาที่เขาเผชิญ สำหรับลอร่า ที่ใฝ่ฝันอยากเขียนหนังสือเด็ก เจมส์ก็ขอให้เธอเล่าแนวคิด และเขียนต้นฉบับออกมา เขากระตุ้นให้เธอติดต่อนักวาดภาพประกอบ ความสัมพันธ์แบบนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกันทำให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่อยากทำและอยากเป็น ก็เพราะ “จุดประสงค์ของการใช้ชีวิตคู่ของคนสองคน ก็คือ การสนับสนุนพัฒนาการของคนรัก และการได้รับแรงสนับสนุนจากคนรัก”
บางครั้งก็อาจไม่ราบรื่นไปเสียหมด สำคัญที่ต้องถามตนเองเสมอๆ ว่า “อะไรคือสิ่งที่คนมีวุฒิภาวะจะทำกัน” วันหนึ่งคนหนึ่งมีงานล้นมือ บ้านอาจรกไปหมด อีกคนกลับจากทำงาน มาถึงบ้าน ภาพที่ปรากฏ “อาจโกรธ อยากต่อว่าอีกฝ่าย” แต่เมื่อเราตั้งคำถามข้างต้น คำตอบก็คือช่วยเก็บข้าวของในบ้านให้เข้าที่เข้าทางแทนที่จะตัดสินอีกฝ่ายด้วยความโกรธ
หากภาพรวมแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ดีสิ่งที่ควรต้องทำ ก็คือ การเปลี่ยนกรอบคิดแบบตายตัวเสีย จากความคิดที่ว่าคู่รักของเราไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้หรือพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ เปลี่ยนจากการยัดเยียดความผิดให้อีกฝ่าย เพื่อทำให้ตัวเองชอบธรรม เหมือนทำไอศกรีมหล่นใส่เท้า สิ่งที่เรามักทำคือโทษคนอื่น หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่ตัวเอง เพื่อทำให้ดูดี แม้ในใจจะขมขื่น ปัญหาความสัมพันธ์ก็ตามมาแน่นอน ขณะที่รองเท้าก็เปื้อนไอศกรีมอยู่ดี
หรือมีปัญหากับพ่อแม่ก็นำมาใช้ได้ กรอบความคิดแบบพัฒนา เมื่อเราต้องการมีความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรัก แล้วก็ไม่อยากอ้อนวอนใคร สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ เราจะเป็นคนควบคุมความสัมพันธ์ในส่วนของเราเอง อย่างน้อยเราก็เป็นลูกที่น่ารักอย่างที่อยากเป็น ถ้ามองแบบนี้ สิ่งที่แม่ทำก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะอย่างไรเสียเราก็ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นคนที่เติบโต ปล่อยวางความขมขื่น เดินหน้าสานสัมพันธ์ ที่เหลือจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญแล้ว ผลที่ได้กลับมาอาจเกินคาดกว่าที่คิดไว้ ที่สำคัญจะไม่ทำให้เราต้องเสียใจอะไรอีกในภายหลัง
…สำหรับความสัมพันธ์แบบคู่รัก หากเรามีกรอบคิดตายตัว วินาทีหนึ่งคนรักก็เป็นดั่งแสงสว่าง อีกวินาทีต่อมาอาจเป็นศัตรูคู่อาฆาตได้ ดังนั้นมาเปลี่ยนกรอบความคิดกันดีกว่าเวลาเกิดความผิดพลาดใดๆ เลิกกล่าวโทษ “มันไม่ใช่ความผิดของฉัน” และเดินหน้าสานสัมพันธ์ด้วยการให้อภัย เพื่อจัดการกับความสัมพันธ์แบบแย่ๆ “อย่าลืมสนับสนุนคนรัก และแสดงให้เห็นว่าสนใจในสิ่งที่เขาทำ”
ทุกความสัมพันธ์ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นธรรมดา กรอบคิดแบบพัฒนาจะมองว่าปัญหาเป็นโอกาสให้คู่รักเข้าใจกันและสนิทสนมกันมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนรักได้แสดงความคิดเห็นในมุมที่ต่างออกไป รับฟังอย่างตั้งใจ พูดคุยกันอย่างอดทนและเอาใจใส่ อย่าหมกมุ่นกับความผิดพลาด และการกล่าวโทษอยู่ตลอดเวลา…ขอให้ผู้อ่านมีความสัมพันธ์ดีกับคู่รัก หรือพ่อแม่ เพื่อนด้วยกรอบคิดแบบใหม่
Total Visit : 35787