back to top

จากผู้ตามสู่ผู้นำ ปลุกคนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรม โต้คลื่นลูกที่ 5

Big Change จุฬาฯปรับครั้งใหญ่ เปิดโลกการเรียนรู้สู่สากล สร้างศักยภาพคนไทยจากผู้ตามสู่ผู้นำสร้างนวัตกรรม ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจัดทอล์ค Chulalongkorn University President’s Distinguished Speakers ต่อเนื่อง คิกออฟครั้งแรก ไฮไลท์หัวข้อ “ผู้นำบนโลกแห่งความไม่แน่นอน”  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำจากมหาวิทยาลัยดัง CGU สหรัฐ

เสียงทรงพลังจาก ศ.ดร.มิเชล บลาย รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและอธิการบดีฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ เกร็ดดูเอท, สหรัฐอเมริกา (Claremont Graduate University :CGU) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำ ที่มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงนักวิชาการด้าน Leadership ซึ่งมากด้วยประสบการณ์บริหารมหาวิทยาลัยทำให้ผู้ฟัง Next Tech ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารา หลายคนตื่นจากภวังค์ นั่งนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมสู่คลื่นลูกที่ 5 มาถึงสังคมแห่งปัญญา ยุคของการคิด การบูรณาการความรู้และใช้ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Chulalongkorn University President’s Distinguished Speakers ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ Leadership in a disruptive world: พร้อมเป็นผู้นำบนโลกแห่งความไม่แน่นอน” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567  โดย ศ.ดร.มิเชล บลาย

การจัดทอล์กครั้งนี้นับเป็นจุดสตาร์ทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จับมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโลกคนไทยให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างจริงจัง สร้างสังคมนวัตกรรมรองรับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บอกว่าการดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลากหลายสาขามาร่วมในทอล์คถือเป็นการแบ่งปันความรู้และสร้างแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าให้กับคนไทยไม่เฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้วย ซึ่งการจัดทอล์คโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ

สำหรับหัวข้อ “การเป็นผู้นำในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” มีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังผ่านยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอน และความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน ความสามารถในการเป็นผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพในโลกยุคนี้ต้องการความยืดหยุ่น การปรับตัว และความคิดล่วงหน้า สำหรับในครั้งแรกของการจัดบรรยาย ไฮไลท์ คือการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดยผู้บรรยายที่มีชื่อเสียง ศาสตราจารย์มิเชล บลายที่จะเป็นไกด์ช่วยนำทางผ่านความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

“เราไม่ได้สร้างนิสิตเป็นผู้นําเพียงเดียว แต่ต้องการสร้างให้คนไทยเป็นผู้นํา” ศ.ดร.วิเลิศ ย้ำอีกว่า บทบาทมหาวิทยาลัยไม่ได้จํากัดเรื่องของการศึกษา และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป จุฬาฯเป็นเพียงพื้นที่ให้ความคิด ภูมิปัญญาสําหรับทุกคนในประเทศไทย ในอดีตเราอาจโฟกัสนิสิตที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญา แต่วันนี้เรามุ่งไปที่หลักสูตรที่เป็น Non Degree เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) แต่เรากำลังสร้างผู้นําชั่วชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ได้จำกัดเฉพาะนิสิตแต่เพียงกลุ่มเดียว

“หน้าที่ของเราในการสร้างผู้นํา ไม่ได้เป็นผู้นําแค่ในประเทศ แต่อยากให้บุคลากรของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในบริษัทเอกชน หรือองค์กรภาครัฐเป็นผู้นําข้ามชาติ วันนี้มี AI มีเทคโนโลยี แต่เรามักจะใช้ของคนอื่น เราเป็นแค่ผู้ตาม อยากเห็นคนไทยเป็นผู้นําในการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้ AI แต่เป็นผู้สร้าง AI ”

ศ.ดร.วิเลิศ ระบุว่า “Chulalongkorn University President’s Distinguished Speakers” ไม่ได้เป็นแค่การจัดทอล์ค แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้สึกว่าเราสามารถทําได้มากกว่านี้ และเราเป็นนักสร้างได้ ในความหมายของเรา ผู้นำไม่ได้แปลว่าต้องมีลูกน้อง แต่ผู้นําแปลว่าสามารถชี้ทางที่เป็นทางเจริญเติบโต และชี้ทางที่จะทําให้องค์กรดีขึ้น นั่นคือความหมายของผู้นําที่แท้จริงที่มีความสามารถในการสร้างอิทธิพลแล้วก็สร้างแรงบันดาลใจสร้างระบบความคิดใหม่ เปลี่ยนความคิดของผู้อื่นได้ ซึ่งจุฬาฯจะเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมพร้อมให้เกิดผู้นําแบบนี้ขึ้นมาในสังคมไทย

ศ.ดร.วิเลิศ ระบุว่าไม่ได้เป็นแค่ทอล์กแต่คือเวทีสร้างแรงบันดาลใจ ดังนั้นจะต้องทำต่อเนื่อง มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับผู้ใหญ่ของแต่ละสาขามาช่วยแชร์ประสบการณ์ ซึ่งถ้าเราไปนั่งเรียนนั่งอ่าน ความรู้อาจล้าสมัยได้ แต่การทำกิจกรรมใหม่ๆครั้งนี้ จะทำให้ความรู้ไม่ล้าสมัย ขณะเดียวกันจุฬาฯจะนำเวทีทอล์คเผยแพร่ในทุกๆช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งยูทูป หรือ พอดแคสต์ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้องค์ความคิดต่างๆ

สำหรับการบรรยายโดย ศ.ดร.มิเชล บลาย แม้ใช้ระยะเวลาไม่นานเพียงชั่วโมง แต่ช่วยสร้างความกระจ่างถึงคำว่าผู้นำและผู้ตามได้อย่างดี  โดยเธอ มองว่ายุคปัจจุบันความต้องการความเป็นผู้นํามีมากขึ้นกว่าเดิม แต่น่าเสียดายที่สังคมฝึกอบรมและพัฒนาผู้ตามได้ดีกว่าตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นเด็กเล็ก ๆต่างได้รับการฝึกฝนให้เป็นผู้ตามมากกว่า แต่ความท้าทาย คือตอนนี้เราต้องการผู้นํามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เราไม่ได้เตรียม พร้อมสําหรับการเป็นผู้นำ เราเดิมพันไว้กับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหนือความสามารถ และความเฉลียวฉลาด ของมนุษย์ ขณะที่ AI ก็ไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ ดังนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องสร้างตัวเองใหม่ เพื่อค้นหาและ สนับสนุนผู้เรียนตลอดชีวิตไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน และตอบสนองต่อความรู้ที่เขาต้องการในฐานะที่เรากำลังอยู่ในคลื่นลูกที่ 5

ภาวะผู้นำในความหมายของศ.ดร.มิเชล หมายถึงความสามารถ แรงจูงใจ และความต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ซึ่งที่ผ่านมาแม้ไม่ได้มีการเตรียมผู้คนได้ดีพอ แต่ตอนนี้ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับมหาวิทยาลัย และสังคมของเรา โดยมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงจำเป็นต้องทำงานให้ดีขึ้นในการสอนและเตรียมความพร้อมภาวะผู้นำ และใช้ AI ให้เป็นประโยชน์มาเป็นผู้ช่วยในการพัฒนาทักษะ กลยุทธ์ และเคล็ดลับบางประการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ที่สำคัญ คือ เราต้องช่วยกันส่งเสริมภาวะผู้นำที่แท้จริง ที่มีทั้งจริยธรรม ความอดทน ความเมตตา และการดูแล ซึ่งจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงและผู้แนะนำที่มีทักษะช่วยเหลือในระหว่างทาง ซึ่งการมีเครือข่ายที่ดีสำคัญมาก ทั้งนี้ศ.ดร.มิเชล ย้ำถึง 3 คุณสมบัติของผู้นำ ประกอบด้วย 1.ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ กลุ่มคน และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และต้องรักษาความซื่อสัตย์และสม่ำเสมอต่อ passion ค่านิยม และเป้าหมายของตนเอง 2.อ่อนน้อมถ่อมตน 3.ความเมตตา เราต้องการคุณสมบัติ 3 ประการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำทางผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ผู้ที่ใช้ผู้ติดตามอย่างสิ้นเปลืองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั่นไม่ใช่การเป็นผู้นำ นั่นเป็นการใช้อำนาจ และการใช้อำนาจไม่ได้หมายความว่าเป็นการเป็นผู้นำ แค่ต้องการอำนาจเท่านั้น”