back to top

หลัก ‘ต้นทุนจม’ สำคัญกับชีวิตเราอย่างไร

บางครั้งเราก็เหมือนยื้อๆ อะไรบางอย่างแม้จะเหนื่อยล้าเต็มที่ เหตุผลอะไรที่เราต้องทำอย่างนั้น เบื้องหลังเหตุผลที่จะมาอธิบายกันนั้น ไม่ได้พุ่งเป้าเรื่องความรักเป็นหลัก งานนี้นักเศรษฐศาสตร์ Rolf Dobelli ผู้เขียนหนังสือ “52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม” The Art of Thinking Clearly นำหลักว่าด้วย “ต้นทุนจม” มาจับ 

เขาอธิบายว่า ขณะที่เรากำลังเสียเงินค่าตั๋วไปดูหนัง แม้หนังจะห่วย เราก็ต้องดูจนจบ หรือเวลาจะเดินหน้าโครงการใดก็ตาม ทำมา 4 เดือนแล้วได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนอยากเลิก แต่เลิกไม่ได้ เพราะมักจะมีการทักท้วงว่า “เราลงทุนกับมันมากไปแล้ว ถ้าหยุดตอนนี้ ก็เท่ากับทุกอย่างที่ทำมาเสียเปล่าน่ะสิ” แบบนี้แหละที่ผู้เขียนเรียกว่า “เป็นเหยื่อของเหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยต้นทุนจม” 

อีกเหยื่อที่ชัดเจน คือนักลงทุน เวลาจะตัดสินใจขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง มักจะอิงกับราคาที่ซื้อมา จะขายต่อเมื่อได้ราคาสูงกว่าเท่านั้น ในความคิดของ Rolf Dobelli เขาเห็นว่าราคาหุ้นตอนที่ซื้อไม่ควรเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจ เพราะสิ่งสำคัญ คือ ผลตอบแทนในอนาคตของหุ้นตัวนั้นต่างหาก รวมถึงผลตอบแทนจากการนำหุ้นตัวนั้นไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ ด้วย เรื่องตลกร้ายในมุมผู้เขียน ก็คือ “ยิ่งขาดทุนจากหุ้นตัวนั้นมากเท่าไหร่ นักลงทุนก็ยิ่งมีแนวโน้มจะเก็บไว้มากขึ้นเท่านั้น”

นั่นเพราะต้องการดูเป็นคนแน่วแน่ในสายตาคนส่วนใหญ่ ซึ่งความแน่วแน่นี้สะท้อนความน่าเชื่อถือ ตรงข้ามกับความโลเล ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการกลางคัน คนอื่นจะมองว่าเราเป็นคนโลเล ก็เลยตัดสินใจเดินหน้าโครงการที่ไร้ความหมายต่อไปเพื่อชะลอความเจ็บปวด และเพียงต้องการทำให้คนอื่นมองว่าเป็นคนแน่วแน่ในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว

ผู้เขียน ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาเครื่องบินคองคอร์ดที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศส แม้รัฐบาลทั้งสองประเทศจะรู้มานานแล้วว่าธุรกิจอากาศยานความเร็วเหนือเสียงจะไม่มีทางไปรอด แต่ยังทุ่มทุนมหาศาลต่อไป เพียงเพราะต้องการรักษาหน้าเอาไว้ หากจะยกเลิกโครงการก็เท่ากับพ่ายแพ้ ทำให้คนเรียกเหตุผลวิบัติว่าด้วยต้นทุนจมว่า “ปรากฏการณ์คองคอร์ด”

หรือในสงครามเวียดนามก็เป็นตัวอย่างได้เช่นกัน จากการที่สหรัฐเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามชนิดถอนตัวไม่ขึ้น เพราะเหตุที่ว่า “เราเสียทหารไปแล้วมากมาย จะมายอมแพ้เอาตอนนี้ไม่ได้” 

เพราะเรามาตั้งไกลขนาดนี้แล้ว หรือฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ไปตั้งเยอะแล้ว หรือเรียนหลักสูตรนี้มาตั้ง 2 ปีแล้ว หากเราคุ้นๆ กับความคิดทำนองนี้ นั่นหมายความว่าเหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยต้นทุนจมกำลังทำงานอยู่ในซอกหลืบของเรา 

แน่นอนว่า บางครั้งเราก็มีเหตุผลดีพอที่จะทุ่มเทให้กับบางสิ่งต่อไปจนมันสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่ให้ระวังเวลาที่ตัวเองหาเหตุผลผิดๆ มารองรับการเดินหน้าต่อไปทั้งที่ไม่มีทางทำได้อย่างที่คิดในตอนแรกแล้ว 

เอามาใช้กับความรักกันบ้าง หลายคู่พยายามประคับประคองความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่มานานหลายปี อาจมีการนอกใจกันหลายต่อหลายครั้ง เมื่อสำนึกผิด ก็ให้อภัยกันมา หรือเริ่มจูนในเรื่องสำคัญๆ กันไม่ติด แม้การคบกันต่อไปจะดูไร้อนาคต แต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจมองว่า “ทุ่มเทให้กับความสัมพันธ์ครั้งนี้ไปมากเหลือเกิน หากจะเลิกคงเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด” ก็เลย “ลากยาว” กันมา ไหนๆ เราได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจับกันแล้ว นำต้นทุนจมมาจับในเรื่องความรักกันบ้างเผื่อจะมีทางออก ทั้งสองฝ่ายอาจลองประเมินกันเมื่อถึงจุดที่ความสัมพันธ์กำลังเดินไปในอุโมงค์ที่มีแสงริบหรี่ๆ โดยให้เปรียบเทียบทางเลือกกันอย่างจริงจัง ระหว่างเดินคู่กันต่อไป กับการสละเรือตอนนี้แล้วต่างเดินคนเดียว หรือหาคู่เดินกันใหม่ ทางเลือกไหนจะได้ผลคุ้มค่ากับทรัพยากรที่จะเสียต่อไปในอนาคต? (ทรัพยากรที่ว่ารวมพลังงานและเวลา) 

เหตุผลวิบัติว่าด้วยต้นทุนจมจะส่งผลรุนแรงที่สุดเมื่อเราได้ทุ่มเทเวลา เงินทอง พลังงาน หรือความรักไปมากมายให้กับบางสิ่ง และการทุ่มเทก็กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังคงเดินหน้าต่อไปแม้ว่ามันจะดูไร้ประโยชน์แค่ไหนก็ตาม ยิ่งทุ่มเทไปมากเท่าไหร่ ต้นทุนจมก็ยิ่งทรงพลังมากเท่านั้น เป็นแรงผลักให้เรายังทำต่อไป

จงลืมอดีตเสีย…ถึงเวลาต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และปล่อยวางการขาดทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าลงทุนเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่าประโยชน์จะได้กลับคืนมาในอนาคตมีมากแค่ไหนต่างหาก…