หลายคนไม่กล้าตัดสินใจเดินออกจากความเคยชินแบบเดิมๆ ก็เลยขาดโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความสุขจากทางเดินใหม่อย่างน่าเสียดาย แต่ก็เข้าใจว่ามันเสี่ยง ขอให้ลองนะ หนังสือ “เดินออกจาก Comfort Zone ซะที! เพื่อเอาชนะความเคยชินแบบเดิมๆ” โดยWEI LAN ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แปลโดยกัญญารัตน์ จิราสวัสดิ์ ช่วยหาคำตอบได้ว่าเราควรเดินออกไปหรือไม่ หรือควรอยู่แบบเดิมๆ ก็ปลอดภัยดี
WEI LAN บอกให้เราวิเคราะห์ในหลายๆ เรื่องที่เชื่อมโยงกัน ก่อนเดินออกจาก Comfort Zone โดยขอให้เรามองเห็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่งก่อนจะลงมือ “กลัว” ที่จะข้ามโซนอันแสนปลอดภัยแบบเดิมๆ ของเราออกไป อาทิเช่น คนเรามักจะหวาดกลัวพุ่มไม้ไหวๆ เพราะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่ามีสิงโตซ่อนอยู่หรือไม่ จึงเกิดความวิตกกังวล อาจเกินไปจากความเป็นจริง
สิ่งที่จะช่วยได้ คือการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้เราลงมือทำ เพื่อให้เราปรับตัวได้ จะทำได้อย่างไรก็ต้องกำหนดความหมายในชีวิตของเราก่อน นั่นคือการหาความสุขง่ายๆ และคุณค่าที่เกิดจากมือของเราเอง ถ้าไม่รู้จะหาความหมายในชีวิตได้ยังไงและจากอะไร ก็มองหามันจากประสบการณ์ของตัวเอง
ความหมายในชีวิต คืออะไร ยกตัวอย่าง มีคนเอาสุนัขไซบีเรียฮัสกี้ราคาแพง และอายุน้อยมาแลกกับไซบีเรียฮัสกี้ที่เราเลี้ยงมาเป็นสิบปี และกำลังป่วย เราจะไม่ยินดีแลกเลย เพราะเราเลี้ยงมันมา มันเป็นตัวกลางของความหมาย แต่หากให้คนที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลือก คนส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกไซบีเรียฮัสกี้อายุน้อย เพราะความหมาย คือ “ความสุขใจง่ายๆ” นั่นเอง
พอตัดสินใจเลือกไปเส้นทางใหม่แล้ว ผลอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราซื้อตั๋วดูหนัง ตั้งใจจะดูให้สนุกผ่อนคลาย ดูไปดูมาปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่คิด หนังเรื่องนี้ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ทำยังไงจะลุกออกหรือดูจนจบ คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าซื้อไปแล้ว ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องทนดูให้จบ
ใหญ่กว่านั้นกรณีเป็นผู้บริหารระดับสูง ลงทุนไปแล้ว 7 ล้านเหรียญจาก 10 ล้านเหรียญ เพื่อพัฒนาโครงการ ทำไปทำมาพบว่าคู่แข่งทำได้ไปไกลกว่า ถึงแม้เราจะทำจนเสร็จก็ยากจะครองส่วนแบ่งการตลาดได้ จะลงทุนต่ออีก 3 ล้านเหรียญ เพื่อให้โครงการเสร็จสมบูรณ์ หรือหยุดเท่านี้
เรื่องนี้มีการทดลองตั้งคำถามกับคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเห็นตัวเลขที่ลงทุนไปแล้ว เห็นว่าควรตัดสินใจเดินหน้าต่อให้เสร็จอีก 3 ล้าน แต่อีกกลุ่มไม่เห็นตัวเลขที่ลงทุนไปแล้ว กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้ลงทุนต่อ นี่คือเหตุผลเดียวกับนักพนันที่เล่นจนหมดเนื้อหมดตัวในบ่อน เพราะเมื่อเสียเงินแล้วจำนวนหนึ่ง ก็คิดอยากจะลงเงินให้หนักขึ้นเพราะคิดว่า “ถ้าชนะจะคืนทุน” จนค่อยๆ ตกหลุมลึกลงเรื่อยๆ เพราะต้นทุนจม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเรามากที่สุด หากเลือกยอมแพ้ สิ่งที่ลงทุนไปแล้วก็จะกลายเป็นความสูญเสีย แต่หากเลือกทำสิ่งนั้นต่อก็อาจสูญเสียมากขึ้นไปอีก
ยกอีกตัวอย่างเหมือนเรากำลังรอรถเมล์ตอนเช้า รอมาครึ่งชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา ใจคิดว่าไหนๆ รอมาแล้วรอต่อไปอีกนิดแล้วกัน ผลก็คือผ่านไปอีกครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่มา เพื่อไม่ให้มาทำงานสายก็เลยโบกรถแท็กซี่ พอรถแท็กซี่ออกจากป้ายรถเมล์เท่านั้นแหละ รถเมล์ก็มาให้เราเห็นไหวๆ คำถามเดิมคือ “มุ่งมั่น หรือยอมแพ้” หรือกรณีนักศึกษาจำนวนมากต้องเลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองร่ำเรียนมา ทั้งที่ไม่ชอบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่เลือกก็รู้สึกเสียดายเวลาที่เรียนมาตั้ง 4 ปี
เรื่องนี้มีหลักอยู่ว่า หากไม่ชอบงานนั้นก็ไม่ต้องไปคิดถึงมันมาก เพราะไม่ว่าเราจะตัดสินอะไรไป การลงทุนเรียนมหาวิทยาลัยมา 4 ปีก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็มีแต่จะทำให้ตัวเองเสียเวลาอีกหลายปีในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ การตัดสินใจจึงมีอยู่ว่า “สูญเสียให้เหลือน้อยที่สุดนั่นแหละคือผลกำไร”
แต่เพื่อป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดตั้งแต่แรก กระบวนการคัดกรองที่ดีจะช่วยเราได้มาก อย่าสนับสนุนความคิดใดๆ ด้วยการดูจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จเพียงหยิบมือเด็ดขาด เพราะจะทำให้เรารู้สึกว่า “ความสำเร็จช่างง่ายดาย” หรือ “ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลตัวเรา” ทำให้เราละเลยข้อมูลข่าวสารที่ถูกคัดทิ้งไป แล้วยังหมิ่นเหม่จะถูกหลอกลวง เช่น เรียนกวดวิชาที่สถาบันนี่ รับประกันสอบติด ไม่ติดคืนเงิน ดึงดูดคนให้มาเรียนมากมาย ก็เพราะกรณีสอบไม่ติดคืนเงินก็จบกันไป แต่หากสอบติดก็พูดกันปากต่อปาก ขยายใหญ่โตจนเกิดเป็นความเข้าใจผิด
หรือมีบางครอบครัวบอกลูกหลานว่า “เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ ลุงป้าน้าเอาไม่ได้เรียนสูง แต่ก็หาเงินได้มากกว่าคนจบปริญญาตรีอีก” แทนที่จะตกหลุมพรางความคิดนั้น ให้เราตั้งคำถามว่าเขาเอากระบวนการอะไรคัดกรอง แล้วความเป็นจริงคืออะไร “คนรอบตัวไม่ได้เรียนหนังสือแล้วหาเงินได้มากกว่าคนจบปริญญาตรี“ หรือ “คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้เรียนหนังสือแล้วหาเงินได้มากกว่าคนจบปริญญาตรี” วิธีที่ดีสุดหากเจอเรื่องยากๆ ผู้เขียนแนะนำให้บันทึกข้อมูลของปัญหาอย่างละเอียดเพื่อช่วยในกระบวนการคัดกรอง
และอย่าลืมทำอะไรก็ตาม “เหตุผลกับความรู้สึก” ต้องมาคู่กัน มีการเปรียบเทียบว่าความรู้สึกคือช้าง เหตุผลของเราคนขี่ช้าง คนขี่ข้างจะรู้จักวิเคราะห์และมองการณ์ไกล และจะออกคำสั่งช้างให้ทำสิ่งต่างๆ แต่ช้างใหญ่โต และฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง คนขี่ช้างไม่สามารถควบคุมมันได้ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันตลอดเวลาเช่นเดียวกัน หากอยากโน้มน้าวช้างก็อย่าใช้ภาษาคน เพราะมันฟังไม่รู้เรื่อง แล้วก็มักทำให้เกิดปรากฏการณ์ “วางแผนดี แต่ไม่ยอมลงมือทำ” มีให้เห็นเยอะไป เหตุผลรับผิดชอบการวิเคราะห์ ความรู้สึกรับผิดชอบการกระทำ เมื่อทั้งสองอย่างไปในทิศทางเดียวกัน ตราบนั้นความร่วมมือจึงจะสมบูรณ์แบบ
และอย่าให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าจอมปลอมมาเป็นอุปสรรคล่ะ เทียบความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายครั้งแรกๆ มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุของกล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องหรอก แต่เป็นการทำงานของระบบการเฝ้าระวังของสมอง หากเป็นนักวิ่งมาราธอนจะพบประสบการณ์ว่า วิ่งจนเหนื่อยมาก วิ่งต่อไปจะไม่ไหวอยู่แล้ว สมองก็จะมีแต่เสียงวนเวียนว่า “ฉันวิ่งไม่ไหวแล้วๆ” แต่เมื่อคิดถึงว่าระยะทางที่เหลือยังห่างจากที่ตัวเองตั้งไว้เล็กน้อย จึงตัดสินใจวิ่งต่อ สุดท้ายก็วิ่งต่อไปอีกได้นานมากจนถึงเส้นชัย
ดังนั้นความมุ่งมั่น คือชัยชนะ การเริ่มต้นไม่ว่าเรื่องใดยากเสมอ การที่จะทำให้เรายอมแพ้มากที่สุดคือช่วงเริ่มต้น เพราะเราไม่คุ้นเคย แล้วก็อยากยอมแพ้ ผลมาจากการปกป้องที่มากเกินไปของระบบสมอง มันพยายามให้เราเดินในเส้นทางที่สูญเสียพลังงานน้อยๆ แล้วก็ยั่วยวนให้เราไปหาเส้นทางที่มีความสุข ยากให้เรายอมแพ้ เช่นเดียวกับขณะออกกำลังกาย สมองจะรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจที่เต้นเร็วขึ้น และพลังงานที่ถูกเผาผลาญไปอย่างรวดเร็ว มันจะพยายามบอกเราว่าเหนื่อยแล้ว ต้องพักผ่อน แต่ไม่ได้หมายถึงกล้ามเนื้อเราไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป แต่คืออารมณ์และความรู้สึกเท่านั้นเอง
เช่นเดียวกับความมุ่งมั่นของเรา หากมั่นใจไม่มากพอ ก็จะยอมแพ้ง่ายดาย แต่หากรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำต่อไป เราก็จะมุ่งมั่นทำต่อไปจนสำเร็จ พร้อมกับค่อยๆ กำจัดความเหน็ดเหนื่อยจอมปลอมทิ้งไป ดังนั้นอย่าให้ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจอมปลอมมาเป็นอุปสรรค จนทำให้เราผัดผ่อนที่จะเดินออกไปทำอะไรๆ นอก Comfort zone
Total Visit : 35681