ความผิดหวังที่เกิดขึ้นกับชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเพราะอะไรกันแน่? เราเป็นคนแสวงหาความสมบูรณ์แบบเกินไปหรือเปล่า แท้จริงแล้วความสมบูรณ์แบบคืออะไรกัน ศาสตราจารย์อีดงกวี, ซนฮาริม และคิมซอยอง 3 นักวิจัยด้านจิตวิทยาชาวเกาหลี พาไปรู้จักคำนี้ เพื่อให้ตอบตัวเอง ว่าเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า นักเขียนเสนอบททดสอบ พร้อมกับแนวทางการเอาชนะจุดอ่อน และการขัดเกลาจุดแข็ง ในหนังสือ FOUR PERFECTIONISTS : แด่คุณที่อยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ในเครือบริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) แปลโดยนภาศรี สุวรรณโชติ
คนแสวงหาความสมบูรณ์แบบ หรือ เพอร์เฟกชันนิสต์ นิยามจริงๆ คือ คนที่มีใจทะยานสู่ความก้าวหน้า และพยายามขัดเกลาผลงานให้ดีเลิศ แต่บางคนก็เลือกเจียระไนแต่ส่วนสำคัญ และติดกับดัก “ฉันจะทำพลาดไม่ได้เด็ดขาด” เพราะความสมบูรณ์แบบที่มากเกินไป จะทำให้เรามองเห็นตัวเองในแง่ลบ และทำให้เราเป็นทุกข์ ความเชื่อแบบเพอร์เฟกชันนิสต์ที่ว่าทุกอย่างต้องอยู่ในความควบคุม และความวุ่นวายใดๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ จะทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกที่ดีกว่า เหมือนกับการตั้งป้ายห้ามเข้าให้กับช่วงเวลาที่สดใสของชีวิต
จริงๆ แล้วมีหลายครั้งที่ความปรารถนา กับความเป็นจริงแตกต่างกันราวกลางวันกลางคืน อะไรทำให้เราไม่อาจใช้ชีวิตอย่างที่ฝันไว้ได้ การแสวงหาความสมบูรณ์แบบคืออะไรกันแน่ และทำไมถึงรั้งเราไว้แบบนั้น
นักเขียนอธิบายเพอร์เฟกชันนิสต์ไว้ 4 ประเภท
1. กลุ่มแสวงหาการยอมรับ กลุ่มนี้จะเป็นลักษณะอ่านสถานการณ์เก่ง เข้ากับคนง่าย แต่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง
2. กลุ่มชอบความระทึก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง แต่มักทำงานเอานาทีสุดท้าย
3. กลุ่มปลอดภัยไว้ก่อน เป็นลักษณะทำงานละเอียดรอบคอบ เน้นป้องกัน แต่มักหลีกเลี่ยงความท้าทาย
4. กลุ่มมุ่งเติบโต แบบมั่นใจในตัวเอง และมีความเป็นผู้นำเชิงรุก
ไม่ว่าจะเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์แบบไหน หากเป็นแล้วไม่มีความสุข เหนื่อยกับการไล่ตาม “ความไร้ที่ติอย่างบ้าคลั่ง” ก็ต้องก้าวออกมา เพื่อปล่อยพลังความสมบูรณ์แบบให้ถูกจังหวะ
แก้อย่างไรกันดี สำหรับกลุ่มที่ 1 กลุ่มแสวงหาการยอมรับ กลุ่มนี้ต้องการการยอมรับและคำชื่นชม คำพูดที่ว่า “ฉันผิดหวังในตัวคุณจริงๆ” เหมือนการทุบน้ำแข็งด้วยมือเปล่ากลางฤดูหนาวเลยทีเดียว เมื่อตอนนี้ฤดูกาลเปลี่ยนไปแล้ว จะเอาเสื้อโค้ตมาใส่ในฤดูร้อนคงไม่ใช่ เมื่อเราต้องการมีคุณค่าในตัวเองนอกเหนือจากฤดูกาลที่ต้องการการยอมรับและชื่นชม ก็ต้องแยกตัวออกจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนรอบข้าง และตระหนักว่า “ตัวเองชอบอะไรและถนัดอะไร” นั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุด
กลุ่มที่ 2 กลุ่มชอบความระทึก กลุ่มนี้มักผัดวันประกันพรุ่ง คิดว่าตัวเองเกียจคร้าน รู้ทั้งรู้ว่าหากไม่ทำตอนนี้จะต้องเสียใจภายหลัง แต่ละวันหมกมุ่นอยู่กับความคิดแล้วก็ปล่อยเวลาผ่านไป และเริ่มทำงานเมื่อใกล้กำหนดส่ง ท้ายที่สุดขณะทำงานก็จะถอนหายใจแล้วคิดว่า “น่าจะเริ่มทำให้เร็วกว่านี้หน่อย” จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขี้เกียจหรอก แต่เป็นคนวิตกกังวล ว่าจะทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้อย่างที่คนอื่นคาดหวัง ความคิดว่าต้องทำสิ่งต่างๆ ได้สมบูรณ์แบบโดยไม่ผิดพลาดนั้นทรงพลังมากจนไม่กล้าลงมือทำงานทันที และได้แต่กังวล
แก้ได้โดยการเริ่มพูดกับตัวเองว่า “ฉันไม่ได้ขี้เกียจ แค่กังวลว่าจะทำงานได้ไม่ดี และฉันอยากทำงานให้ดีจริงๆ” และทิ้งภาพลวงตาออกไป ทิ้งความคิดว่าทำแป๊ปเดียวก็เสร็จ ทั้งที่จริงๆ ต้องใช้เวลามากกว่านั้น หรือตรงข้าม คิดว่าต้องใช้เวลา 20-30 ชม. ถึงจะเสร็จ จริงๆ ใช้เวลาแค่ 10 ชม.เป็นต้น
นอกจากนี้ต้องแก้ไขพฤติกรรมชอบทำอย่างอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะต้องทำด้วย เช่น หยุดดูทีวี หยุดดูยูทูบ หยุดทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ คือ “การผัดวันประกันพรุ่ง” เปลี่ยนด้วยการหันมาทำสิ่งที่ต้องทำ เช่น อยากจะอ่านหนังสือให้จบ ก็ต้องวางทุกสิ่ง และเริ่มเปิดหนังสืออ่าน พร้อมกับวางแผนการทำสิ่งนั้นอย่างละเอียด เรียกว่า “วิธีวางแผน 15 นาที” เพื่อไม่ให้รู้สึกกดดันเกินไป และพอทำ 15 นาทีแรกสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ก็จะทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก หากให้ดีก็เขียนแปะข้อความตามที่ต่างๆ ให้เห็นง่ายๆ เช่น หน้าตู้เย็น เพื่อเตือนความจำ เช่น “เขียนรายงานไปถึงไหนแล้ว?” วิธีเหล่านี้เป็นการสั่งสมประสบการณ์เล็กน้อย บ่อยๆ เข้าก็จะเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งได้
กลุ่มที่ 3 กลุ่มประเภทปลอดภัยไว้ก่อน จะป้องกันความผิดพลาดมากกว่าการแสวงหาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ หรือพร้อม แต่กลับไม่เอื้อมมือคว้าโอกาส ไม่กระตือรือร้นที่จะทำเรื่องเสี่ยง หรือไม่ลองทำงานที่ไม่คุ้นเคย แต่ยิ่งระมัดระวังมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่มีจุดแข็ง คือรอบคอบ ที่ยังต้องรักษาไว้
วิธีแก้ไข คือ มองย้อนกลับไปว่า เราพลาดโอกาสอะไรไปบ้างในอดีต และสาเหตุที่ทำให้พลาดไป ฝึกพูดที่เน้นการพัฒนา เช่น “ฉันต้องการเก่งขึ้นกว่าเดิม” หรือ “ต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะเสมอ” เพราะยิ่งใช้คำพูดเน้นการพัฒนามากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจกับการทำงานที่ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น โดยให้เขียนบรรทัดบนที่เป็นคำพูดเชิงป้องกันตัวเอง และบรรทัดล่างคำพูดเชิงพัฒนา อาทิ
“ฉันเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งทำงานได้ไม่ถึงปี ค่อยๆ เรียนรู้งานตามขั้นตอนอย่างที่พนักงานใหม่ควรทำน่าจะดีกว่านี้เข้าร่วมโปรเจกต์ใหญ่ อยู่ทีมวางแผนที่ 3 อย่างนี้แหละดีแล้ว”
“แม้ควรต้องเรียนรู้งานพื้นฐาน แต่ถ้าเข้าร่วมโปรเจกต์ก็จะมีโอกาสทำงานยากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทักษะของฉัน”
และให้เขียนปัจจัยที่จำเป็นที่จะช่วยเปลี่ยนจากมุมมองจากเชิงป้องกันมาเป็นเน้นการพัฒนา เช่น ทำอย่างไรจึงจะกล้าหาญ ก็ต้องหารายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ต้องรับผิดชอบในโปรเจกต์ใหม่ หาคนที่มีประสบการณ์และฟังเรื่องราวจากเขา ประเมินงานว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนเริ่มโปรเจกต์
กลุ่มที่ 4 กลุ่มมุ่งเน้นการเติบโต กลุ่มนี้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีโอกาสสำเร็จสูงสุดในบรรดาเพอร์เฟกชันนิสต์ ทั้ง 4 กลุ่ม เขาจะเคารพมาตรฐาน และวิจารณญาณของตนเองมากกว่าสนใจสายตาคนอื่น เวลาทำงานจะเน้นการพัฒนาและเติบโตมากกว่าหลีกเลี่ยงความล้มเหลว แต่ก็มีจุดอ่อนหลักๆ คือเมื่อจดจ่อกับเป้าหมายของตนเองแล้ว ก็มักจะไม่สนใจความคิดหรือความสัมพันธ์ของคนอื่น บางครั้งก็ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน เพราะใช้คำพูดตรงเกินไป เพราะจดจ่อกับผลงาน และให้ความสำคัญกับมาตรฐานตนเองมากที่สุด มีแนวโน้มจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง จึงอาจสร้างความกดดันให้คนอื่น หากไม่เกี่ยวกับงานก็มักไม่สนใจคนรอบข้าง
เคล็ดลับ คือฝึกทักษะสื่อสารระหว่างบุคคล 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ตั้งใจรับฟังผู้อื่น ใส่ใจว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร ความหมายที่แท้จริงของคำพูดนั้นคืออะไร และรับฟังด้วยทัศนคติที่เป็นมิตร กล้าที่จะแสดงความรู้สึก แม้เป็นด้านลบแต่ต้องทำด้วยความเป็นมิตร เช่น “ฉันตกใจมากที่คุณพูดจารุนแรงแบบนี้”
2. เมื่อพบกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างไป ไม่ควรรีบวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสิน เมื่อไม่เข้าใจพฤติกรรมของอีกฝ่ายให้มองด้วยความเมตตา โดยให้คิดว่าคนนั้นอาจมีปัญหาที่เราไม่รู้
3. เมื่อรู้สึกไม่สบายใจให้ใช้ “วิธีสื่อสารแบบ…ให้เริ่มจากตัวฉัน เช่น ตอนนี้ฉันเศร้าเพราะรู้สึก… ไม่ใช้วิธีการสื่อสารแบบ “เธอทำอย่างนั้นได้ยังไง” ช่วยลดความขัดแย้ง เน้นๆ คือไม่ตัดสินวิถีคนอื่นด้วยมาตรฐานของตนเอง
หากคนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบที่มุ่งเน้นการเติบโต มีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างราบรื่น จะกลายเป็นแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่ยอดเยี่ยม และประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้ามหากปราศจากการสื่อสารและการเข้าใจกับผู้อื่นแล้ว ก็เป็นแค่ “คนเก่งคนเดียวในโลก” หรือ “นายพลผู้สันโดษ”
ในบทส่งท้ายผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง เกร็ดชีวิตของนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงของโลก ชื่อ อิมมานูเอล คานต์ เขาใช้ชีวิตที่เคร่งครัดและเป็นระเบียบ มีการถ่ายทอดประเด็น “สาเหตุที่คานต์ไม่แต่งงาน” เพื่อแสดงลักษณะของการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ และผลที่เกิดกับเขา
ในช่วงที่คานต์ยังเป็นหนุ่ม เขาเป็นที่หมายปองของหญิงสาวจำนวนมาก และมีผู้หญิงคนหนึ่งตามจีบ และเป็นฝ่ายขอเขาแต่งงาน คานต์เองก็หวั่นไหวกับความกระตือรือร้นของหญิงสาว และคิดเรื่องแต่งงานอย่างจริงจังในเวลาต่อมา เขาค้นพบ 354 ประการที่ควรแต่งงาน และ 350 เหตุผลที่ไม่ควรแต่งงาน เมื่อพบข้อดีมากกว่าข้อเสีย เขาก็ไปพบหญิงสาวเพื่อตอบตกลง แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเขาใช้เวลาครุ่นคิดเรื่องนี้ถึง 7 ปี หญิงสาวแต่งงานและมีลูกแล้ว 2 คน เขาจึงเป็นโสดมาตลอดชีวิต
คำถามคือ ใครจะบอกได้ว่าชีวิตแบบนี้ของคานต์ล้มเหลว และหากคานต์สะเทือนใจที่ล้มเหลวในการแต่งงาน จนละทิ้งนิสัยของเขาในการพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบ เราก็อาจไม่ได้เห็นผลงานทางวิชาการที่ทรงอิทธิพลต่อโลก และ ชื่อของเขาอาจหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงการแสวงหาความสมบูรณ์แบบของเขาเป็นจุดแข็งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจึงไม่ได้บังคับใครให้ต้องพัฒนาตัวเองทุกสถานการณ์ แต่หากต้องการเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ที่มีความสุข และก้าวสู่ความเป็นเลิศที่เหนือกว่าที่เป็นอยู่ การพัฒนาก็เป็นเรื่องที่ดีในบางสถานการณ์ เพราะกระบวนการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในบางครั้ง อาจเต็มไปด้วยความสุขจากความสำเร็จ แต่บางครั้งก็อาจนำไปสู่ความสงสัย และความหดหู่ในความสามารถของตนเอง
อย่างไรเสียการหา “ความสุข” ของตัวเองจนเจอ คือสุดยอดของความเป็นมนุษย์ …ทำอย่างไร เพอร์เฟกชันนิสต์ จึงจะไม่ทุกข์ ก็ต้องเปลี่ยนจากการแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีความสุขให้กลายเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น นั่นหมายถึงต้องเคารพ และตระหนักถึงความสามารถของตัวเอง
ขอให้ผู้อ่านตระหนักไว้ว่า…หากพยายามจะเปลี่ยน เราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขอเพียงอยากจะเป็นคนแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่มีความสุขอย่างแท้จริงหรือไม่ และให้เริ่มก้าวแรกกับการเปลี่ยนแปลง
Total Visit : 35664