โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตไม่น้อยในแต่ละปี สถิติในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี
แนวทางสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันที่ได้ผลที่สุด คือ การเข้ารับการรักษาภายใน 4.5 ชม.หลังมีอาการ เพื่อได้รับยาละลายลิ่มเลือด และรักษาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตามเราทราบข้อมูลกันมามากมายถึงสาเหตุของโรคและการป้องกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรักตัวเองจริงๆ และหันมาปรับพฤติกรรมอย่างจริงจัง และตลอดไป เนื่องจากสโตรกเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้ หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง
ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ดารานักแสดง ผู้อำนวยการ PARK RUN THAILAND นอกจากเป็นนักวิ่งแล้ว ยังคร่ำหวอดกับแวดวงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมาหลายสิบปี บอกเราในงานกิจกรรมวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ที่จัดขึ้น ณ รพ.ศิริราช ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.67 ว่า หลายภาคส่วนรณรงค์ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองกันมานาน แต่เสียงของเราดูจะไม่ดังพอเมื่อเทียบกับกระแสโซเชียลที่เชิดชูกันด้วยภาพการกินดีอยู่ดีหรูหรา ดูเร้าใจ เพราะการกินอยู่แบบนี้เสพแล้วคนมีความสุขทันที เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องเลือกเสพสุขแบบนี้ก่อน เปรียบเทียบกับการรณรงค์ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นการเสพสุขที่เห็นผลระยะยาว จึงดูเหมือนว่าการส่งเสริมเชิงรุกจะไม่เห็นผลมากนัก
“แต่ต้องบอกว่าการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันก่อนป่วยเป็นเรื่องหัวใจที่สำคัญ คนจำนวนมากหากยังไม่ป่วยก็จะไม่ตระหนักรู้ แต่ถ้าได้มีโอกาสมารพ.จะเห็นคนป่วยมากมาย ลองไปถามคนเหล่านี้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต คำตอบ คืออยากมีสุขภาพดีทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อร่างกายเรายังดีอยู่ เราออกแบบชีวิตได้ เลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหน และทุกคนทำได้ไม่ยาก ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำได้ทุกที่ทุกเวลา เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ สำคัญไม่แพ้กัน คือจิตใจ ต้องปล่อยวาง ตั้งใจในการกระทำ แต่ปล่อยวางผลลัพธ์ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเครียดกับลูกหลาน ก็ต้องปรับจิตใจ การกระทำเราเหมือนเดิม เราทำหน้าที่ที่ดีที่สุด แล้วปล่อยวางในผลที่เกิดขึ้น เราจะไม่มีตัวตน”
เขา ย้ำข้อมูลว่า 4 โรคนี้มีโอกาสทำให้เกิดสโตรก ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในหลอดเลือดสูง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ บวกกับพฤติกรรมเสี่ยงโรค เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ เครียด ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ เป็นต้น วันนี้เราต้องคิดกันใหม่ ต้องให้เวลาหรืองบประมาณไปกับการป้องกัน ช่วยสร้างผลดีทางเศรษฐกิจในระยะยาวให้กับครัวเรือน และระดับประเทศ เพราะการไม่ป่วยแปลว่าเราทำงานได้ สุขภาพจิตดี มีกำลังใจในการทำงาน สร้างรายได้เพิ่ม ไปท่องเที่ยวได้ ซึ่งล้วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้อย่างดี ที่สำคัญ คือ ลดปัญหาสังคม
ทั้งนี้การดูแลสุขภาพเริ่มจากตัวเราเองก่อน และขยายไปสู่คนในครอบครัว และคนในชุมชน ให้เรามีกิจกรรมทางกายได้ง่ายๆ ที่ไหนก็ได้ไม่ต้องไกล 10 นาทีก็ได้ ขอแค่ทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หากทำได้เราจะเคารพตนเอง และลูกหลานเห็น คนในชุมชนเห็น เขาก็จะสัมผัสได้ และทำตาม เมื่อทุกคนทำก็เหมือนต่อจุดเล็กๆ ในสังคมให้กลายเป็นเส้นตรงยาวสู่การดูแลสุขภาพของคนไทย
ตอนนี้เรามี PARK RUN THAILAND ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนงานวิ่งฟรีที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ มีระยะวิ่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร จัดขึ้นในสวนสาธารณะหรือพื้นที่เปิดโล่ง เป็นกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพกายใจพร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวของคนในชุมชนต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนพูดคุย เดินทางไปมาหาสู่ เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพด้วยกัน ทั้งการวิ่ง หรือแม้แต่การช่วยกันเก็บขยะในชุมชน ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อีกทางด้วย นี่แหละที่จะเป็นพลังของเราในการชี้นำสังคมสุขภาพให้เกิดขึ้น
“สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง อาจจะดูโดดเดี่ยวเกินไป ตอนนี้ต้องเป็นสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากจะได้เราจะช่วยกัน ซึ่งวันนี้ทุกภาคส่วนก็ได้เข้ามาช่วยกันสนับสนุนจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ อยู่ที่เราจะเลือกเส้นทางชีวิตอย่างไรแค่นั้นเอง หาให้เจอว่าเราอยากได้แบบไหน ความสุขของเรา คืออะไรกันแน่ ความมั่งคั่ง ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือการมีสุขภาพที่ดี ปรับความคิดใหม่ “เลือก” ใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่ใช่หาเงินแล้วเอาเงินไปซื้อความสุข แต่เราต้องหาความสุข หาจุดสมดุลในชีวิตที่ทำให้เรามีความสุขทั้งกายและใจอย่างแท้จริง ก่อนที่เราจะขาดอิสรภาพจากการป่วยไข้”
สำหรับพี่คนนี้เลือกแล้ว ณรงค์ชัย จันทร์พร อายุ 59 ปี เภสัชกรชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม พี่ณรงค์ชัยเลือกเส้นทางชีวิตใหม่หลังจากป่วยด้วยโรคสโตรกเมื่อ 9 ปีก่อน
เขา เล่าวิกฤตชีวิตในตอนนั้น เมื่อ 30 ม.ค.58 วันที่จำได้ไม่เคยลืม มันเป็นวันเปลี่ยนชีวิตของเขา เมื่ออยู่ๆ ขาไม่มีแรง ก็มานอนพักที่บ้านพัก แต่นอนไปสักประมาณ 30 นาที ไม่หาย มีอาการชามากขึ้น ขยับซีกขวาไม่ได้ เดินไม่ได้ สภาพตอนนั้นต้องเดินกระต่ายขาเดียวออกจากบ้านพัก เพื่อไปขอความช่วยเหลือบ้านตรงข้ามให้พาไปส่งที่รพ.นครพนม เขาถูกพาเข้าห้องไอซียู ความดันอยู่ที่ 160 มม.ปรอท ตอนแรกหมอยังวินิจฉัยไม่ได้ จนมีอาจารย์หมอเข้ามาดู และวินิจฉัยว่าเป็นสโตรก จากนั้นก็ได้ก็รับยาละลายลิ่มเลือดทันที เขารักษาตัวอยู่ห้องไอซียู 2 วันก่อนจะออกมาห้องผู้ป่วยใน
ตอนแรกที่เกิดอาการ เขาไม่รู้ว่าเป็นไร ไม่รู้จักสโตรก เพราะยุคนั้นสโตรกไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก รู้จักแต่โรคที่ ย โย่ง ผู้ประกาศข่าวเป็น และเสียชีวิต “ผมยอมรับเลยว่าที่ผ่านมาผมใช้ชีวิต extreme มาก ทำงานดึก เอางานทำที่บ้าน กินอาหารเต็มที่ หวานมันเค็มมาครบ แล้วก็กินเหล้า น้ำตาลในเลือดผม 300 mg/dL ผมก็ไม่ไปหาหมอ กลัวการกินยาตลอดชีวิต ตอนนั้นน้ำหนัก 70 กก.”
ณรงค์ชัย เล่าจุดพีคของชีวิตว่า ผมเป็นคนตั้งความหวังสูง หวังจะเป็นที่หนึ่งตลอด แล้วก็เครียด ช่วงนั้นไม่ได้นอน กินเหล้าถึงตี 3 ตื่นมาทำงาน 8 โมงเช้า กินข้าว โทรคุยงาน แล้วก็เกิดเหตุกับเขาจนได้ อ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่เป็นคำ วันแรกที่ต้องนอนรพ.เขาจำได้ดี เขาได้ยินเสียงร่ำไห้ของครอบครัวหนึ่งให้กับชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นสโตรกแต่โชคร้ายมาช้าเกินไปและกลายเป็นอัมพาตถาวร ณรงค์ชัย ยอมรับว่า เขารู้สึกกลัวจับใจ
วันเวลาความเป็นความตายของณรงค์ชัย มีโชคช่วย โชคที่ว่าไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพร แต่เป็นเพื่อนบ้านที่พาไปรพ.ได้เร็ว และเขาได้รับยาละลายลิ่มเลือดจากหมอทันที ทำให้เขาได้รับการรักษาภายในเวลาไม่เกิน 4.5 ชม. เมจิกนัมเบอร์นี้สำคัญกับชีวิต จนถูกเรียกว่าเป็น “Golden Period” ของผู้ป่วยสโตรก เป็นช่วงเวลาที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดเสี่ยงอัมพาตหากได้รับการรักษาหลังจากพบอาการภายในช่วงเวลานั้น
ณรงค์ชัยกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร เขา เล่าต่อว่า หลังรักษาตัวที่รพ. 5 วัน เขากลับมาฟื้นฟูตัวเองทุกวันที่บ้าน ทั้งฟื้นความจำระยะสั้นที่หายไป แม้แต่ชื่อหลายๆ คนที่เขารู้จัก ไม่ต้องพูดถึงเลขรหัสบัตรต่างๆ รวมถึงฟื้นตัวให้หายจากแขนขวาที่อ่อนแรง ทั้งเดิน และบริหารร่างกายต่างๆ เช่น การบีบกำมือ
จากนั้นก็ย้ายมารักษาที่ รพ.รามาธิบดี การฟื้นฟูทำพร้อมกับการรักษาโรคอื่นๆ ที่สะสมในร่างกายของเขามานาน เขาไม่รักตัวเองมากพอ ไม่ได้ยินเสียงของร่างกาย จนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เล่นงานครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน ซึ่งหมอรพ.รามา บอกสาเหตุการเป็นสโตรกของเขาว่ามาจากโรคเรื้อรัง NCDs ที่เขาไม่ได้รับการรักษา เพราะความกลัวว่า “จะต้องกินยาตลอดชีวิต” ความกลัวแบบนี้เป็นที่มาทำให้ณรงค์ชัยเกือบต้องเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไปตลอดชีวิต
การป่วยคราวนั้นนำมาสู่ความตั้งใจที่พูดกับตัวเองว่า “จะไม่เป็นภาระให้หมออีก” ช่วงฟื้นฟูนั้น เขาคิดว่าออกกำลังกายด้วยการเดินวิ่งน่าจะทำให้ดีขึ้น ก็เลยเริ่มด้วยการวิ่ง จากนั้นอาการชาของมือขวาก็เริ่มมีกําลัง สามารถเขียนหนังสือได้ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ก็กลายมาเป็นคนออกกำลังกายอย่างจริงจัง เขาวิ่งเลาะริมโขงเป็นประจำ เวลาผ่านไป พ.ย.ปีนั้นเอง ณรงค์ชัย ก็ไปปรากฏตัวในงานวิ่งข้ามแม่น้ำโขง
เขา เล่าอย่างสนุกสนานว่า พอมีคนวิ่งรอบข้างที่แข่งกับเรา การวิ่งเลยกลายเป็นเรื่องสนุก ทำให้เราออกกําลังกายสม่ำเสมอ วิ่งไปวิ่งมาได้เหงื่อ ความดันลด คุมความดันได้ดี จากนั้นเขาก็วิ่งไม่หยุดจนวันนี้ 9 ปีแล้วผ่านงานวิ่งมา 47 จังหวัด แถมไปงานวิ่งเบอร์ลิน และโตเกียวมาราธอนมาด้วย เขาตั้งใจจะวิ่งให้ครบทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละคนอาจจะชอบไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเขาแล้ว การวิ่งทำให้มีความสุข ตอนนี้อะไรที่ทำร้ายร่างกายณรงค์ชัยปฏิเสธแข็งขัน เขาไม่ดื่มเหล้า ไม่นอนดึก ตอนนี้น้ำหนักเหลือ 64 กก. สามารถเดินขึ้นเขาหลายๆ ที่ได้ไม่เหนื่อยเหมือนก่อน
นอกจากการปรับพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกายอย่างจริงจังและมีวินัยแล้ว เขายังปรับสภาพจิตใจไปด้วย ณรงค์ชัย ยังคงทำงานอยู่ แต่เลิกตั้งความหวังที่จะเป็นที่หนึ่ง หมายถึง “ทำเต็มที่ ผลเป็นยังไงช่างมัน ไม่คาดหวังผลลัพธ์เหมือนแต่ก่อน ความเครียดลดลง “เขาถ่ายทอดอย่างผ่อนคลายอย่างที่เขาเล่า แล้วก็ย้ำว่า “เพราะผมไม่อยากติดเตียงตาย ขอบคุณโรค ที่ทำให้ผมได้ชีวิตใหม่”
ทั้งนี้เร็วๆ นี้หลายภาคส่วนร่วมกันจัดโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “HEALTHY THAIS, HEALTHY BRAINS – คนไทยสมองดี” จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ 2 พ.ย.67 กรุงเทพจัดที่สนามเจริญสุขมงคลจิต สนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้ามาอยู่ในชุมชนนักวิ่ง สามารถร่วมกิจกรรมได้ที่ Park Run Thailand เว็บไซต์ลงทะเบียนงานวิ่งฟรีที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ทั่วประเทศมีระยะวิ่งไม่เกิน 5 กิโลเมตรจัดขึ้นในสวนสาธารณะหรือพื้นที่เปิดโล่ง สนับสนุนโดยสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด มูลนิธิภูมิพลัง บริษัท DRC และ บริษัท นครหลวง จำกัด ซึ่งร่วมดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายมาเกือบ 5 ปี ต่อเนื่องทุกเช้าวันเสาร์ ภายใต้กรอบกติกาง่ายๆ คือ ทุกเช้าวันเสาร์สนามทั่วประเทศเริ่มพร้อมกันเวลา 7.00 น. เดินวิ่งวีลแชร์ระยะทาง 5 กิโลเมตร เสร็จแล้วจึงสแกน QR code บันทึกผลส่งมาเก็บสถิติในระบบ โดยยึดค่านิยมสำคัญหลัก 5 ประการคือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญูกตเวทิตา” เริ่มต้นช่วงแรกมี 20 สนาม สมาชิก 2,000 คนเศษ ปัจจุบันมีสนามเปิดบริการเกือบ 200 สนามในกว่า 60 จังหวัด สมาชิกกว่า 40,000 คน