เสียงสะท้อนเกิดขึ้นทันที ภายหลัง ‘คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช’ วางแนวปฏิบัติสำหรับผู้แทนยาและเครื่องมือแพทย์ ในการนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา ณ พื้นที่โรงพยาบาล ป้องกันปัญหารบกวนผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล สร้างทรรศนะวิจารณ์อย่างหลากหลายทั้งทางบวกและลบ
สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) หรือ MPAT ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมการตลาดที่มีเภสัชกรกว่า 2,000 คน MPAT มุ่งหวังที่จะประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เภสัชกรการตลาดเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายวิชาชีพที่เข้มแข็งและครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ MPAT ยังมุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมการตลาด กำกับดูแลฝึกอบรมและสอบเกณฑ์จริยธรรม (Code of Conduct) เพื่อประโยชน์แก่สมาชิกและสังคมโดยรวม โดยการจัดทำมาตรฐานและประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก เครือข่าย และบุคคลทั่วไปได้รับทราบอย่างกว้างขวาง
ภก.ผดุงยศ พิสุทธาดามงคล นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ด้วยยาเป็นสินค้าดูแลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยคนไข้ เป็นสินค้าที่ไม่สามารถโฆษณาได้ตามระเบียบ อย. เพราะฉะนั้นแพทย์จะได้รับข้อมูลของยาจะมีได้ไม่กี่วิธี การสื่อสารกับแพทย์โดยตรงดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่หลักการคือเมื่อพูดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะกล่าวถึงงานวิจัยเป็นหลัก ห้ามพูดสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง
อย่างไรก็ตาม หลักฐานงานวิจัยมีปริมาณมาก ข้อมูลซับซ้อน เพราะยาหนึ่งตัว ต้องวิจัยกันเป็น 10 ปี จำนวนยาในตลาดเป็นหมื่นๆ รายการ แต่ละบริษัทก็จะมีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ผู้แทนยาจึงต้องได้รับการอบรมทั้งด้านความรู้ ความการสามารถเป็นพิเศษในการสื่อสารและโดยเฉพาะเกณฑ์จริยธรรม เพื่อนำส่งข้อมูลให้กับแพทย์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาและความปลอดภัยดีที่สุด
ประเทศไทยมีผู้แทนยา ทั้งแบบเภสัชกรและไม่ใช่เภสัชกร โดยทุกคนจะต้องผ่านการอบรมเกณฑ์จริยธรรมอย่างสม่ำเสมอและต้องสอบผ่าน “เกณฑ์จริยธรรม” ของสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย)” (MPAT Code of Conduct), PReMA หรือ TPMA ต้องได้รับการอบรมและสอบให้ผ่านเกณฑ์จริยธรรมจากสมาคมใดสมาคมหนึ่ง โดยเฉพาะผู้แทนใหม่จะต้องผ่านการอบรมทดสอบด้านความรู้อย่างจริงจังด้วย โดยใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้แทนมีความรู้ครบถ้วน จึงสามารถทำงานในวิชาชีพได้
ปัจจุบันผู้แทนยาวิชาชีพเภสัชกร มีจำนวนประมาณ 2,000 คน และถ้ารวมทุกวิชาชีพก็มากกว่า 5,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมยาจะมีสมาคมใน 2 รูปแบบ ก็คือ สมาคมที่มีสมาชิกบริษัทยา และ สมาชิกบุคคล โดยสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) หรือ MPAT เราจะเป็นผู้แทนยาที่เป็นเภสัชกรรายบุคคล
ผู้แทนยา…กว่าจะได้เข้ามาทำหน้าที่
หลังจากผ่านการคัดกรองสัมภาษณ์เป็นผู้แทนยาอย่างเข้มข้น เกณฑ์จริยธรรมจะเป็นหัวข้อหลักสำคัญที่ต้องมีการอบรมและต้องทดสอบผ่าน โดยสมาคมฯ เมื่อได้รับใบประกาศนียบัตรแล้ว ก็ต้องมีการอบรมเป็นระยะและต้องมาสอบใหม่ทุกๆ 3 ปี ซึ่งบริษัทยามีหน้าที่ส่งพนักงานมาอบรม มาสอบ ตอนนี้ผู้บริหารระดับ Manager หรือหัวหน้าผู้แทนยา ก็ต้องมาสอบรับใบอนุญาตด้วยเช่นกัน
ในส่วนของบริษัทยา ผู้แทนยาซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ทุกเดือนต้องอบรมเกี่ยวกับความรู้ด้วย เช่น ความรู้เรื่องโรค หรือ ผลิตภัณฑ์ยาและต้องผ่านการทดสอบความรู้ทุกเดือน บางบริษัทอบรมทุกสัปดาห์จนถึงตลอดไป รวมทั้งอบรมเกณฑ์จริยธรรมอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง พร้อมสอบต่อใบอนุญาตใหม่ทุกๆ 3 ปี
จะเห็นว่าผู้แทนทุกคนต้องมีความรู้ ความตระหนักในตัวเองอยู่แล้วเวลาออกไปทำงานจริงๆ อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจเกิดปัญหาอุปสรรคในเขตบ้าง เช่น กรณียาบางตัวมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือบางครั้งถ้ายาขาดก็จะส่งผลกระทบต่อคนไข้ จึงเป็นหน้าที่บริษัทที่มอบให้ผู้แทนยาไปแจ้งแพทย์
“เมื่อเกิดเสียงสะท้อนเกิดขึ้นสมาคมฯ ของเราก็รับฟังและกลับมาพิจารณาดูให้เข้มงวดมากขึ้น แจ้งสมาชิกให้ระมัดระวังตรงนี้ ยึดเกณฑ์จริยธรรมให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ถือว่าจำนวนครั้งการร้องเรียนปัญหาน้อยลงมาก และในอนาคตผมคิดว่า The Best คือจะไม่มีเลย”
อีกอันคือถ้าใครทำผิดกฎตรงนี้ บริษัทยาจะมีบทลงโทษ ตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ จนถึงให้ออก จะเห็นว่าด้วยระเบียบที่เข้มข้นนี้ผู้แทนจึงทำงานโดยยึดเกณฑ์จริยธรรม ดังนั้นจำนวนครั้งร้องเรียนก็จะน้อยลงและการเกิดขึ้นก็จะไม่รุนแรง เป็นเรื่องเล็กน้อย
รูปแบบการทำงานผู้แทนยา
ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐบาลมีคนไข้จำนวนมาก แพทย์ก็มีภาระงานหนัก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาก็มีจำนวนมาก ดังนั้น ผู้แทนยาคือต้องให้ข้อมูลตามหลักฐานทางคลินิกที่เป็นจริง เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ยากับคนไข้เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงคือ การให้ข้อมูลยาคุณหมอแบบ Face to Face หรือแบบที่สองนำเสนอเป็นกลุ่ม หรือ Product Presentation โดยจะนำเสนอในห้องประชุมแต่ละแผนก สามคือ บริษัทยาจัด Symposium เป็นงานใหญ่เชิญอาจารย์แพทย์มาพูดให้ความรู้ต่างๆ
“แต่วิธีที่มีประสิทธิภาพสุดก็คือ Face to Face เพราะมีการถามตอบกันได้ เนื่องจากยาเป็นสินค้าเฉพาะ มีความซับซ้อนมาก ยาแต่ละตัวเมื่อไปคุยกับแพทย์แต่ละแผนก ต้องใช้ความรู้หรือหลักฐานทางคลินิกการวิจัยที่อาจแตกต่างกันบ้าง ผู้แทนยาจึงต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญยาที่รับผิดชอบ โดยบริษัทจะมีการอบรมสม่ำเสมอ”
เหตุที่ไปเจอผู้แทนยาตาม OPD
ด้วยเหตุผลที่ว่า ยาไม่สามารถโฆษณาได้ แล้วข้อมูลซับซ้อน ปริมาณยาก็มาก การให้ข้อมูลแพทย์ด้วยตัวผู้แทนยาเอง จึงมีความจำเป็น “เวลาพบผู้แทนยาที่ไปอยู่ทางเดิน หรือแผนก OPD อะไรตรงนี้ จริงๆ เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการทำงานทั้งวัน ตรงนั้นอาจจะอยู่แค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของวันทำงานเท่านั้น”
ผู้แทนยาส่วนใหญ่ไปพบคุณหมอที่ห้องพักแพทย์หรือสถานที่แพทย์สะดวกและเหมาะสม หรือห้องประชุม ที่การให้ข้อมูลยาแบบ Face to Face ได้ หรือไปติดตามประสิทธิภาพยาหลังจากใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง หรือเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมให้กับคุณหมอ จนถึงเรื่องยาขาด ยาเปลี่ยน หรือยามีปัญหาหรือไม่ก็ที่ห้องยา ช่วงไหนที่มีประเด็นแนวโน้มจะขาดก็จะแนะนำสำรองยาไว้เพื่อสำรองให้คนไข้มากพอ หรือมีข้อมูลทางคลินิกใหม่ๆ ส่วนในต่างจังหวัดผู้แทนยาจะไม่ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว อาจจะไปที่คลินิกตอนเย็นด้วย
ผู้แทนยาต้องการวอลุ่มหรือไม่
“มองว่าเรื่องยอดขายเป็นปลายเหตุ เป้าหมายคือต้องการให้คนไข้ได้เข้าถึงยามากกว่า” การที่มีการใช้ยาเพิ่มขึ้นอาจเกิดจากหลายกรณี ยาบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยา (Dose) เช่นจากเดิมเราใช้ยาขนาด 2 มิลลิกรัม พอใช้นานๆ เกิดการทนยา ก็ต้องปรับเป็น 4มิลลิกรัม หรือ ถ้าเป็นยา Chronic คือยาที่ใช้กับโรคเรื้อรัง ปัจจุบันมีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นอายุขัยยาวนานขึ้น สมัยก่อนคนไทยอายุเฉลี่ย 72 ปี ปัจจุบันอายุเฉลี่ย 78 ปี เดิมใช้ยาตั้งแต่อายุ 60-72 ปี รวม 12 ปี แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น ต้องใช้ยาถึงอายุ 78 ปี เพิ่มมาอีก 6 ปี ดังนั้น การใช้ยาก็จะมากขึ้นด้วย หรือมีข้อบ่งชี้ใหม่ๆ หรือมีโรคระบาด
“ปัจจุบันคนเรารู้ภาวะโรคเร็วขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น มีการใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์ตรวจจับ (Detect) โรคมีประสิทธิภาพขึ้น ดังนั้นคนไข้เมื่อมีอายุขัยยาวนานขึ้น จึงมีคุณภาพชีวิตก็ดีกว่าเดิม เกิดการป้องกันโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก (early detection and diagnosis) เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ถ้าได้รับยาเร็วก็จะไม่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา เช่น ความดันสูง หรือโรคไต”
กระบวนการทำงานผู้แทนยา
ปัจจุบันมีระบบ “คณะกรรมการคัดกรองยา” พิจารณานำยาเข้าโรงพยาบาล ไม่ใช่ว่าเรามียาใหม่แล้วแพทย์จะนำไปใช้ได้เลย ต้องนำเสนอข้อมูลหลักฐานผลการรักษาทางคลินิกเข้าไปหารือในคณะกรรมการคัดกรองยาของโรงพยาบาลก่อน กรรมการมีทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล มาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งต้องดูจากข้อมูลหลักฐานผลการรักษาทางคลินิก ด้านคุณภาพ ความปลอดภัย รวมทั้งเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับยาที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแล้วจึงคัดเลือกยาเข้าระบบของโรงพยาบาล จากนั้นจะมีการอนุญาตให้ผู้แทนยาไปให้ข้อมูลยาใหม่กับแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นได้
เรื่องส่วนแบ่งจากยอดการขายยา
ถ้าเราดูรายได้ของผู้แทนยาจะมีสองส่วน คือส่วนที่ Fix และ Available ปัจจุบันรายได้ประจำมากกว่า 50% คือเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง มากกว่ารางวัลจากการขาย แล้วรางวัลการขายปัจจุบันมีการกำหนดเพดานขั้นสูงสุด ไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อน
“ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันป้องกันปัญหา จากเสียงสะท้อนเข้ามา ทุกๆ บริษัทได้ให้ความร่วมมือปรับแก้ ปัจจุบันบางบริษัทแทบจะไม่มีรางวัลการขายแล้วหรือมีน้อยมาก เราปรับปรุงทั้งความรู้ เกณฑ์จริยธรรม และผลประโยชน์ของพนักงานขาย เพื่อไม่ทำให้ลิงค์กับยอดขาย”
เริ่มบ่มเพาะตั้งแต่นิสิตนักศึกษา
สำหรับอีกองค์กรภาคีหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญ ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนยาทั่วประเทศ นำโดย ภก. ภูริทัต ว่องพุฒิพงศ์ ประธานชมรมผู้แทนยาและเวชภัณฑ์ มองว่า ปัจจุบันคนเข้ามาในวิชาชีพผู้แทนยา หรือ บริษัทยาก็ดี จะมีการเทรนนิ่ง 100% มุ่งเน้นเรื่องของเกณฑ์จริยธรรม Code of Conduct ซึ่งชมรมผู้แทนยาและเวชภัณฑ์ และ สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) ก็มีการดำเนินการในเชิงรุก (ProActive) มีการสอนตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษาเพื่อปรับ Mind Set ฝึกอบรมวิชาชีพให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบว่า “อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้”
หากแต่วงการยามีหลากหลาย ทั้งผู้จบเภสัชกรรมและไม่จบเภสัชกรรม ทางชมรมฯก็จะบอกตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เข้าใจภาพรวมอุตสาหกรรม บางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นอาชีพเซลล์หรือไม่ แต่เราไม่เรียกตัวเองว่าเป็นเซลล์แต่เป็น “Detail ยา หรือ Medical sales representative” คือผู้นำเสนอข้อมูลประสิทธิภาพ ความปลอดภัยจากผลการวิจัยการรักษาทางคลินิกโดยใช้ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์
“เพราะฉะนั้นคุณมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องมีเกณฑ์จริยธรรม อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะมีคนเฝ้ามองเราอยู่ ถ้าคุณคิดว่าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเข้ามา” มองว่าสิ่งนี้คือแต้มต่อในการสัมภาษณ์งานด้วย คือรู้ว่า Business เค้ามีข้อจำกัดอย่างไร มีโอกาสตรงไหนบ้าง
ในส่วนของชมรมและสมาคมฯ ก็จะทำงานประสานกัน บริษัทจะช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมนี้ดีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงสุดท้ายแพทย์และโรงพยาบาลสบายใจ ว่าคนที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานี้ไม่ว่าสังกัดบริษัทเล็กหรือใหญ่ ตระหนักในเกณฑ์จริยธรรม รับรู้ในสิ่งที่ว่า อะไรควรทำและไม่ควรทำ
ส่วนเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติตัวของผู้แทนยาไม่เหมาะสม เมื่อก่อนอาจจะมีเข้าหูเราบ้าง ก็มีเรื่องการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนบ้าง แต่ตอนนี้ลดลงมากแล้ว เราพยายามบอกตลอดว่าเราซีเรียสนะ นอกจากขายดีแล้ว ต้องมีตรงนี้มีเกณฑ์จริยธรรมด้วย
สร้างความมั่นใจเรื่องยาให้แพทย์
การพบแพทย์ คือการไปให้ข้อมูล 1 ครั้ง หรือ 1 Visit ที่โรงพยาบาล ผู้แทนยาไม่ได้ไปหาแพทย์คนเดียว ต้องไปหลายแผนก เพราะยาหลายตัวใช้ได้หลายโรค แต่ละโรคมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น หมอโรคไต อาจกังวลเรื่องยาหัวใจบางตัว ก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
อีกทั้งปัจจุบันมียาคิดค้นใหม่ แม้ไม่มากแต่มีข้อบ่งใช้มากขึ้น หรืออาจมีการปรับ Dose ใหม่ ดังนั้นเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจปรับยาหรือจะไม่ปรับก็แล้วแต่ เพราะแพทย์จะมี มีไกด์ไลน์ในการรักษาคนไข้และภายใต้จรรยาบรรณอยู่แล้ว ผู้แทนยาให้ข้อมูลยาที่ถูกต้องและครบถ้วนจะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น ทำให้หมอมั่นใจในยา
“เมื่อผู้แทนยาที่ไปทำงานในโรงพยาบาล เค้าจะมีหลายฟังก์ชัน หลายหน้าที่ บางคนต้องเดินผ่านไปมาหลายแผนก คงห้ามไม่ให้เดินไม่ได้ บางครั้งมันเป็นจังหวะต้องเดินผ่านไปจุดบริการผู้ป่วยบ้าง โดยแต่ละวันอาจมีเวลาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เดินผ่านจุดบริการผู้ป่วย จึงไม่อยากให้ทุกคนมองแค่จุดเดียว”
หน้าที่หลักของวิชาชีพผู้แทนยา คือการนำเสนอข้อมูลผลการวิจัยการรักษาทางคลินิกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น บางครั้งยาเดิมอย่าง Amoxi ปัจจุบันเปลี่ยน Dose การใช้แล้ว หรือพาราเซตามอล จากเดิมทาน 2 เม็ด ลดเหลือ 1 เม็ด เพราะเกิดปัญหากับตับ เป็นต้น บทบาทของเราช่วยทำให้แพทย์รักษาคนไข้ได้ดีขึ้น Smart ขึ้น จนคนไข้หายดี ถือว่าผู้แทนยาเป็นพาร์ทเนอร์กับแพทย์กับโรงพยาบาลมากกว่า
ผู้แทนยากับความรู้ด้านงานวิจัย
ทางด้าน ภก. วิรุณ เวชศิริ กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันรายการยาในประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลของ อย. มีมากถึง 4 หมื่นแบรนด์ เรียกว่าไม่น้อยเลย แต่ยาหลายตัวสามารถจัดกลุ่มได้เป็นชื่อสามัญ เช่น พาราเซตามอล ถูกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าหลายชื่อ ทำให้เกิดความซับซ้อนแม้กระทั่งกับบุคลากรทางการแพทย์ “การให้ข้อมูลสนับสนุนโดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่บุคลากรทางการแพทย์อาจยังไม่คุ้นเคยเป็นสิ่งจำเป็น” เภสัชกรวิรุณกล่าว
แต่การตัดสินใจเลือกยาของแพทย์จะมองที่ 3 ปัจจัย คือ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย มีงานวิจัยรองรับ ไม่ทำอันตราย หรือมีการผลิตได้คุณภาพตามเกณฑ์ GMP เป็นต้น ปัจจุบัน แบ่งยาได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาบรรจุเสร็จ และยาสามัญประจำบ้าน โดยยาที่จำหน่ายให้กับโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% และ ร้านขายยา 30% โดยทางโรงพยาบาลจะโฟกัสไปที่ยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย จึงจำเป็นต้องมีผู้แทนยาไปให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
บทบาทการทำงานของบริษัทยา
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนยาของทุกบริษัท ส่วนใหญ่จะมี Sale Manager ทำหน้าที่ควบคุมดูแลในเขตอยู่แล้ว เค้าก็จะดูว่าทีมงานปฏิบัติงานได้ตาม Code of Conduct หรือไม่ และยังมีตำแหน่งวางแผนงานเรียกว่าเป็น Product Specialist หรือ Product Manager ทำหน้าที่คุมกรอบว่า ผู้แทนยาสามารถพูดอะไรได้ หรือไม่ควรพูดอะไร
สุดท้ายคือตำแหน่ง MSL หรือ Medical Science Liaison เป็นผู้ให้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัทยาบางแห่งจะใช้แพทย์มาทำหน้าที่นี้ บางแห่งก็จะใช้เภสัชกร หลักๆ เป็นตำแหน่งที่ชอบอ่านบทวิจัยใหม่ๆ นำไปพูดคุยกับแพทย์ แนะนำข้อมูลนวัตกรรมใหม่ๆ แม้ยาจะยังไม่ออกสู่ตลาดก็จะเอามาย่อยแล้วไปคุยกับแพทย์เพื่อให้ทราบเทรนด์ใหม่ๆ
“เห็นได้ว่าทุกตำแหน่งจะทำงานประสานกันแบบนี้ คนในบริษัทยาบางตำแหน่งมาให้ข้อมูลอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ขายเลยก็ได้”
กลไกการคัดเลือกยาสู่โรงพยาบาล
ปัจจุบันมีการค้นพบยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือมีความปลอดภัยกว่ายาเดิม ดังนั้น ถ้าแพทย์หนึ่งคนอยากใช้ยาใหม่หนึ่งตัว ไม่ใช่จะเลือกเอง ทางโรงพยาบาลจะมี “คณะกรรมการคัดกรองยา” ดังนั้น ไม่ใช่มียาใหม่ปีนี้ แล้วแพทย์จะสามารถได้ใช้เลย ถ้าแพทย์ประสงค์ให้คนไข้ได้ใช้ยา ก็จะมีกลไกคือ คณะกรรมการยา มีแพทย์ เภสัช พยาบาลและผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลให้เหมาะสม
“กระบวนการนี้คือ enlisting ทำให้ยาเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลนั้นได้ การทำอย่างนี้ได้ คุณหมอเจ้าของคนไข้ในกลุ่มนั้นจะต้องมีความรู้ในเชิงลึก เพราะต้องไปอธิบายชี้แจงกับคณะกรรมการยา แต่ข้อมูลที่จะรวบรวมทั้งประสิทธิผล คุณภาพ ความปลอดภัย ว่ายานี้แตกต่างจากยาอื่นหรือไม่ เมื่อไปรายงานคณะกรรมการแล้วจะใช้เวลาพิจารณา 6 เดือน 12 เดือน แล้วก็จะเลือกยาเข้าสู่โรงพยาบาล แล้วคุณหมอก็จะพิจารณาว่ายานี้เหมาะกับคนไข้เคสอะไร แต่ถ้าไม่มีเคสใช้เลยโรงพยาบาลก็จะเอายานั้นออก ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าเรื่องให้ข้อมูลยาต้องเป็น Dynamic เพราะเห็นแล้วว่า ยาไม่คุ้มค่ากับการใช้ ก็จะถูกคัดออกโดยอัตโนมัติด้วยกลไกของมัน”
ทั้งหมดนี้ ช่วยทำให้สังคมได้เห็นภาพการทำงานของวิชาชีพผู้แทนยาอย่างถูกต้อง ซึ่ง สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) และ ชมรมผู้แทนยาและเวชภัณฑ์ มั่นใจว่าภาพลักษณ์ของผู้แทนยาปัจจุบันดีขึ้น มีปัญหาการร้องเรียนน้อยมาก มาจากการทำงานขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานเกณฑ์จริยธรรมที่เข้มข้นทุกระดับต่อเนื่องทั้งวันนี้และอนาคต