back to top

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ A (H1N1) กำลังมา

แนวโน้มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจำนวนผู้ป่วยยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2566 โดยระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล (Digital Disease Surveillance : DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 พ.ย. 67 พบผู้ป่วย 630,786 ราย อัตราป่วย 971.75 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 47 ราย อัตราป่วยตาย 0.008

กลุ่มที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 0–4 ปี (3,269.93) รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี (2,807.27) และกลุ่มอายุ 15–24 ปี (807.57) ตามลำดับ โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่พบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) พื้นที่ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคกลาง (1,243.11) รองลงมา คือ ภาคใต้ (978.71) ภาคเหนือ (750.43) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (740.84)

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวมักพบการระบาดของกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสมในระบบเฝ้าระวังโรค (DDS) สูงกว่าผู้ป่วยสะสมในปี พ.ศ. 2566 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันภาพรวมของประเทศเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายสัปดาห์ และจำแนกรายภาค พบว่า ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ และยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคติดต่อทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียน และเรือนจำ นอกจากนี้ ยังพบการระบาดมากขึ้นในศูนย์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์

ดังนั้น ในฤดูหนาวนี้ซึ่งมักจะเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยและการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น

สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันด้วย 6 แนวทาง ดังนี้ 

1) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ

2) เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา

3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม

4) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย

5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

6) บุคคลกลุ่มเสี่ยงโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน) หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิต

ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย คือ

1) แม้จะมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาที่บ้าน 3–7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ

2) สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้อื่น

3) ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง เวลาไอ จาม

4) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

5) หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422