back to top

อหิวาตกโรค กับโนโรไวรัสเหมือนหรือต่าง 

ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเฝ้าระวังอหิวาตกโรค (Cholera) ตามแนวชายแดน หลังเกิดการระบาด ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ จ.เมียวดี เมียนมา ตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค.67 มีผู้ป่วยรักษาตัวกว่า 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่ 56 ราย ส่วนไทยมีผู้ป่วยเมียนมาเข้ารักษา 2 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ทั้ง 2 รายเดินทางข้ามมาจากฝั่งเมียนมา เพื่อมาเยี่ยมญาติในฝั่งไทยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 และยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการป่วยอหิวารักษาไทยเพิ่มอีก 1 ราย จำนวนผู้ป่วยในฝั่งประเทศเมียนมา มีรายงานมากกว่า 450 คน และทางการไทยได้ส่งยาและเวชภัณฑ์บางส่วนเข้าไปให้การช่วยเหลือแล้ว

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่าอหิวาตกโรค เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว 

สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง (อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้อัตราป่วยตายสูงมากกว่า 50% แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่า 1%

อหิวาตกโรคติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การกินอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆ สุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป เชื้อมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน สำหรับการติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรงพบได้น้อยมาก

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็นระยะได้

ส่วนโนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน 

โนโรไวรัสสามารถติดต่อกันได้ง่าย จาก 3 สาเหตุ หลัก คือ 1.การกินอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่มีการปนเปื้อนเชื้อ 2.สัมผัสผู้ป่วยโดยตรงหรือกินอาหารและน้ำที่ผู้ป่วยเป็นผู้เตรียมหรือผู้ปรุงประกอบ เพราะผู้ป่วยแพร่เชื้อได้แม้ไม่มีอาการ และ 3.การนำนิ้วมือที่สัมผัสผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปากโดยไม่ล้างมือ นั่นหมายถึงโนโรไวรัสสามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสจากคนสู่คน ซึ่งต่างจากอหิวาที่การระบาดมาจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อ

อาการ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และอาจมีไข้ร่วมด้วย ใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แนวทางรักษาเป็นไปตามอาการ สิ่งสำคัญคือป้องกันภาวะขาดน้ำโดยดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) หากมีอาการรุนแรงให้รีบพบแพทย์ วิธีการป้องกันให้ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด