สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลการสำรวจกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสะสม 503,884 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 – 14 ต.ค. 67 พบเสี่ยงซึมเศร้า 51,789 ราย คิดเป็น 10.28% เสี่ยงทำร้ายตนเอง จำนวน 87,718 ราย คิดเป็น 17.4%
ทั้งนี้ได้พิจารณาเด็กเป็น 3 ระยะ คือ วัยทารก วัยก่อนเรียน และวัยเรียน ซึ่งมีความต้องการตามธรรมชาติแตกต่างกันไป เด็กเล็กมีความต้องการทางร่างกาย ได้แก่อาหาร อากาศ น้ำ สัมผัส เป็นต้น เมื่อโตขึ้นมีการเรียนรู้มากขึ้นก็เกิดความต้องการทางอารมณ์ สังคม
ความต้องการของเด็กเล็กแบ่งได้เป็น 4 อย่าง คือ
1. ความต้องการความรัก (Need for Affection) เมื่อเด็กจำความได้จะรู้สึกว่าความรักความอบอุ่นนั้นเป็นของสำคัญอยากให้คนอื่นรัก และได้รักคนอื่น เด็กที่มีความอบอุ่นได้รับความรักจากพ่อแม่ พี่น้อง จะมีอารมณ์แจ่มใสคงที่ ไม่มีการเอาเปรียบอิจฉาริษยา ซึ่งตรงข้ามกับเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น
2. ความต้องการความปลอดภัย (Need for Security) เด็กต้องการความเสมอต้นเสมอปลาย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในฐานะไม่ปลอดภัย
3. ความต้องการสถานะในสังคม (Need for Status) เด็กทุกคนต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากให้คนอื่นเอาใจใส่ และชมเชย
4. ความต้องการอิสรภาพ (Need for Independence) เด็กต้องการรับผิดชอบการงาน ต้องการทำงานเป็นอิสระตามความสามารถของตน ความต้องการเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เด็กเกิดมีการกระทำต่างๆ หรือแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา เพื่อสนองความต้องการที่เกิดขึ้นอารมณ์ของเด็ก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และมีการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional maturity) ได้แก่ ความโกรธ ความกลัว ความรักและความริษยา
ความโกรธของเด็ก เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใด หรือบุคคลใดมาขัดขวางความปรารถนาไว้ ทำให้เกิดความคับข้องใจ ถ้าผิดหวังมากก็จะโกรธมาก สำหรับเด็กเล็กความโกรธจะปรากฏให้เห็นเมื่อเด็กไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการได้ หรือเมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง การแสดงอาการโกรธจะแตกต่างกันไปตามอายุของเด็กแต่ละคน 3 ในวัยทารก เมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง เด็กทารกจะแสดงการร้องไห้ แสดงอาการไม่เป็นสุข แต่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จะแสดงออกโดยการเตะถีบสิ่งของต่างๆ ลงมือลงเท้า ร้องไห้ ด่า ขว้างปาข้าวของ หรืออาการก้าวร้าวอื่นๆ เมื่อโตขึ้นอาจจะแสดงออกในลักษณะต่างๆ กัน เช่น แสดงออกทางสีหน้า การไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยจนถึงการทำร้ายผู้อื่น ในสถานการณ์เดียวกันอาจก่อให้เกิดความกลัวในระดับอายุหนึ่ง โกรธในอีกระดับอายุหนึ่ง และอีกระดับอายุหนึ่งอาจมีการขบขันก็ได้
ความกลัวของเด็ก เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น เด็กจะแสดงความกลัวโดยการร้อง และแสดงอาการหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุจากการที่เด็กต้องเผชิญกับสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ โดยทันทีทันใดหรือไม่คาดฝัน เด็กอายุ 1-3 ขวบ จะแสดงอาการกลัวความมืด กลัวฝันร้าย ความกลัวของเด็กอาจเนื่องมาจากผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กก็จะพลอยกลัวไปด้วย หรือ เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หลอกให้เด็กกลัวสิ่งที่ไม่มีเหตุสมควร
สิ่งต่างๆ ที่เด็กกลัว แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
1. สัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่ 2. สถานการณ์น่ากลัว 3. ธรรมชาติที่เด็กกลัว เช่น ฟ้าผ่า 4. สิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ยักษ์ เป็นต้น
โดยทั่วไปความกลัวของเด็กขึ้นกับอายุและการเรียนรู้ วัยทารกนั้นยังมีความกลัวไม่มาก แต่เมื่อโตขึ้น รับรู้แยกแยะได้มากขึ้น ความกลัวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเริ่มจินตนาการได้บางทีเด็กก็จะมีความกลัวจากจินตนาการของตนเองเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะสามารถใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจต่างๆ ขจัดความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัวลงได้ ส่วนอิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อความกลัวของเด็กนั้น มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน การเรียนรู้นี้อาจมาจากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง เช่น เคยถูกสุนัขกัด ทำให้กลัวสุนัข หรือมาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือมาจากจินตนาการของเด็กเอง เมื่อเด็กเกิดความกลัว ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไป คือ พยายามหนีสิ่งที่กลัวส่วนการเผชิญหน้าหรือกำจัดสิ่งที่กลัวนั้น เด็กไม่ค่อยจะทำ แต่ถ้าหนีทุกครั้งไป ก็ทำให้ขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการได้ การหนีสิ่งที่กลัวโดยไม่มีเหตุผลอันควรแสดงว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยอธิบายเท่าที่ควร มักตัดปัญหาด้วยการบอกให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่กลัวเสีย เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีเหตุผลอยู่เสมอ ถ้าเด็กรู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้นเด็กก็จะค่อยๆ หายกลัว เด็กที่ตกใจต้องการคนปลอบใจมากกว่าการดุด่า เด็กต้องการที่จะเอาชนะสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเด็กได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ มา และพ่อแม่คอยช่วยแนะนำอธิบาย เด็กจะมีเหตุผลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป
ความรักของเด็ก (Affection) เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือสิ่งของ ความรักของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดจากสถานการณ์ทางสังคมและการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะรักผู้ที่ดูแลและให้ความเอ็นดูแก่เขาตั้งแต่ในวัยทารก และการแสดงความรักของเด็กก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กรู้จักเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้น เมื่อโตขึ้นก็จะรู้จักรักสิ่งของ เช่น ตุ๊กตา จากนั้นเด็กก็จะรักบุคคลนอกบ้านที่รักและสนใจตน เด็กจะแสดงความรักต่อผู้อื่นเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความรักที่เด็กได้รับจากพ่อแม่ ครอบครัว ถ้าได้รับแต่ความจงเกลียดจงชังอารมณ์รักของเด็กจะไม่พัฒนาขึ้นมาเท่าที่ควร ทั้งเด็กยังต้องออกไปแสวงหาความรักจากบุคคลภายนอกบ้าน เด็กเล็กๆ ถ้ารักใครจะแสดงออกมาให้เห็นโดยการกอดรัด อยากอยู่ใกล้กับคนหรือสิ่งของที่ตนรักตลอดเวลา
นอกจากนี้เด็กยังเต็มใจที่จะช่วยงานของคนที่ตนรัก ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะทำได้ เมื่อโตขึ้นเข้าโรงเรียนการแสดงออกก็เปลี่ยนไป คนที่ขาดความรักไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับย่อมขาดความสุขใจรวมทั้งเกิดปมด้อยได้ ดังนั้น การเป็นผู้ที่มีความรักที่ดีและเหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางจิตใจอย่างมากมาย
ความริษยาของเด็ก (Jealousy) เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องสูญเสียความรักไป หรือเมื่อเด็กพบว่ามีคนอื่นมาเอาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสมบัติพิเศษของเขาไป อารมณ์ริษยานี้จะแสดงออกมาในลักษณะของความโกรธ อาจจะโกรธบุคคลหรือสิ่งของก็ได้ อาจจะมีความโกรธและความกลัวผสมกัน ผู้ที่เกิดอารมณ์ริษยาจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการข่มขู่ ขาดความมั่นคงมั่นใจในการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลที่ตนรัก เพราะเกิดความกลัวว่าคนที่ตนรักจะไม่รักตน สาเหตุและการแสดงออกของอารมณ์ริษยาของเด็กๆ นั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การเรียนรู้ของเด็ก และการปฏิบัติของคนอื่นต่อเด็ก อารมณ์นี้ทำให้เด็กมีความรู้สึกมองโลกไปในแง่ร้ายแม้ในวัยผู้ใหญ่ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอารมณ์ริษยามักจะเป็นบุคคลและสถานการณ์ทางสังคม พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กมักเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ริษยา เนื่องจากเด็กต้องการความรัก ความสนใจจากผู้ใหญ่ เด็กมักรู้สึกว่าตนต้องแข่งขันกับเด็กอื่นอยู่เสมอ ความริษยาในเด็กจะแสดงออกในรูปพฤติกรรมต่างๆ เช่น ปัสสาวะรดที่นอน กัดเล็บ ทำลายข้าวของ หรือเรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจตน เมื่อโตขึ้นความริษยาบุคคลในบ้านจะลดลง เด็กจะเบนความสนใจไปสู่สิ่งแวดล้อมนอกบ้าน หันไปริษยาเพื่อนๆ อาการที่เด็กแสดงออกบ่อยๆ เมื่อเกิดอารมณ์ริษยา คือ
1. แสดงความเป็นศัตรู หรือก้าวร้าวกับคู่แข่งของตน 2. พยายามทำตัวให้เหมือนคู่แข่ง 3. ยอมแพ้ 4. พยายามเก็บกดไว้ คิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ 5. หาทางออกไปในการหาชื่อเสียงอื่น
ในเด็กโต การแสดงออกจะมาในรูปทางอ้อมมากกว่าทางตรง ความริษยาของเด็กเริ่มก่อตัวจากครอบครัวก่อน และเป็นผลจากการเลี้ยงดูการแสดงออกของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่แสดงความสนใจเด็ก เด็กย่อมไม่เกิดความริษยามากนัก อย่างไรก็ดีอารมณ์นี้ในเด็กเล็กถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเด็กเล็กย่อมต้องการความรัก ความสนใจ เอาใจใส่ ยังไม่ได้เรียนรู้ถึงการเอื้อเฟื้อต่อกัน พ่อแม่ผู้มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็กจึงควรฝึกให้เด็กมีความริษยาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น หนักแน่น ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ข้อมูลโดย แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล