ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน
สำหรับประเทศไทยข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567–14 ธันวาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วย 645,705 ราย อัตราป่วย 994.74 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 49 ราย สูงสุดในจังหวัดนครราชสีมา 15 ราย สุราษฎร์ธานี 8 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย พระนครศรีอยุธยา 3 รายโดยพบเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A จำนวน 43 ราย สายพันธุ์ B จำนวน 3 ราย และไม่ระบุสายพันธุ์ 3 ราย
โรคนี้เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด
เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ชนิดย่อยของไวรัส A ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในคนที่พบในปัจจุบันได้แก่ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ส่วนไวรัสชนิด B ไม่มีแบ่งเป็นชนิดย่อยเนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มียีโนมเป็น RNA แยกเป็น 7-8 ชิ้น ทำให้ยีโนมมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ค่อนข้างบ่อย เรียกว่า genetic variation แต่มีเพียง H1N1 และ H3N2 ที่พบติดเชื้อในคนบ่อย
การศึกษาด้านนิเวศวิทยาบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกำเนิดมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ตระกูลนก (avian influenza virus) สัตว์นกน้ำ (aquatic bird) เป็นแหล่งรังโรค (reservoir) เชื้อไวรัสสามารถแบ่งตัวได้ในลำไส้ของสัตว์ประเภทเป็ดป่า (wild duck) โดยไม่ทำให้สัตว์เกิดอาการ สัตว์เหล่านี้ขับถ่ายเชื้อไวรัสจำนวนมากออกมาพร้อมอุจจาระ ในแต่ละปีจะมีลูกนกเป็ดน้ำจำนวนมากเกิดขึ้นทั่วโลกลูกนกเหล่านี้ได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำ เมื่อลูกนกเป็ดน้ำโตขึ้นก็จะย้ายถิ่นและแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปอย่างกว้างขวาง และได้มีการศึกษาว่าการใช้อุจจาระเป็ดไปเลี้ยงปลาจะนำไปสู่การแพร่เชื้อไวรัส avian influenza ไปสู่หมู ซึ่งเชื้ออาจแพร่ไปในอาหาร และซากนกที่นำไปเลี้ยงหมู
ทั้งนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก โดยมีระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 วัน
โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน
ดังนั้นวิธีการป้องกันทำได้โดย
1. สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ชุมชน
2. หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา
3. ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
4. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
5. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดผู้ป่วย
สำหรับข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หญิงตั้งครรภ์ควรฉีดเพื่อป้องกันลูกที่เพิ่งคลอดซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะฉีด
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค