back to top

ฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็ก ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของหญิงไทยที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี สาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human papilloma virus) ซึ่งปัจจุบันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉีดตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขจึงมีเป้าหมายเร่งฉีดวัคซีนให้เด็กสำหรับในปีงบประมาณ 2568 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการฉีดวัคซีน HPV ทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน 

กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 รวมถึงหญิงไทยอายุ 11 – 20 ปี ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV มาก่อน โดยวัคซีนที่จะฉีด เป็นวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ซึ่งป้องกันเชื้อได้ครอบคลุมมากขึ้น และฉีดเพียงเข็มเดียว ช่วยลดความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับวัคซีนเข็มที่ 2 ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน HPV เข็มที่ 1 ในปีที่แล้ว สามารถเข้ารับวัคซีน HPV ชนิดเดิม เข็มที่ 2 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้นานขึ้นได้ โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ Kick-off การฉีดวัคซีน HPV ที่จังหวัดปทุมธานี พิษณุโลก และสุโขทัยไปแล้วประมาณ 3,700 ราย และที่จังหวัดหนองคายในวันนี้ 1,815 ราย ขอเชิญชวน เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 และหญิงไทยอายุตั้งแต่ 11 – 20 ปี ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน HPV มาก่อน เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

สำหรับผู้หญิงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วยการรับการตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งเป็นการตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา โดยแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน ซึ่งหลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค โดยแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

สาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากเชื้อ HPV ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ได้แก่

1. อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูก มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

2. มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น

3. สูบบุหรี่

4. มีบุตรจำนวนมาก

5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

6. ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจแป๊ปสเมียร์ และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

สำหรับอาการของโรคนั้น ในระยะรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการดังต่อไปนี้

  • • เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 
  • • เลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน
  • • เลือดออกทางช่องคลอดหลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว (วัยทอง)
  • • ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น
  • • ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
  • • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

ข้อมูล : หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี