back to top

20 ทางม้าลายแต่อันตราย

เปิด 20 จุดทางม้าลายใน กทมกลายเป็นจุดอันตราย “ชนซ้ำซาก” ส่วนใหญ่อยู่หน้าโรงเรียนและโรงพยาบาล เตรียมดึงเครือข่าย “แม่หมอกระต่าย”และทีม Rabbit Crossing ลงพื้นที่ร่วมสะท้อนปัญหาเจ็บ-ตาย จากอุบัติเหตุที่ไทยยังครองแชมป์ อดีตที่ปรึกษา WHO วอนผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ติดตั้งเครื่องหมายลดความเร็วและอุปกรณ์ช่วยชะลอความเร็วรถก่อนถึงทางข้าม หวังลดอุบัติเหตุจราจร

จากเหตุการณ์รถจักรยานยนต์ ชนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ อายุ 68 ปี ได้รับบาดเจ็บ บริเวณทางม้าลายที่เคยเกิดเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ พุ่งชน “คุณหมอกระต่าย” หรือ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามถนนบริเวณดังกล่าว จนเสียชีวิตเมื่อปี 2565 เหตุเกิดหน้าโรงพยาบาลโรคไตภูมิราชนครินทร์ 

ดร. ศศดิศ ชูชนม์ นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์ บอกว่า ข้อมูลล่าสุดจากการเชื่อมสัญญาณกล้อง CCTV บริเวณจุดข้ามถนนทางม้าลายในกทม. พบว่ามี 20 จุดอันตรายที่ยังคงเกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ และยังคงมีรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟทางข้าม ส่วนใหญ่เป็นบริเวณหน้าโรงเรียนและโรงพยาบาล ประกอบด้วย 

1. หน้าโรงเรียนบางกอกอินเตอร์แคร์การบริบาล

2. หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ

3. หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์

4. หน้าโรงเรียนมัธยมบึงทองหลาง

5. หน้าโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช บางขุนเทียน 

6. หน้าห้างบิ๊กซี ถ.อิสรภาพ 

7. หน้าโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม

8. หน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3  

9. หน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

10. หน้าโรงเรียนสารสาสน์พิทยา

11. หน้าโรงเรียนวัดนวลจันทร์

12. หน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ

13. หน้าโรงเรียนสตรีวุฒิศึกษา

14. หน้าโรงเรียนสุเหร่าศาลาลอย

15. หน้าโรงเรียนจันทรวิทยา

16. โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์

17. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

18. หน้าโรงเรียนวัดสระแกงาม

19. สวนหลวง ร.9

20. หน้าโรงเรียนสมิทธิพงษ์ 

ทั้งนี้กำลังเตรียมประสานกับ นพ.อนิรุทธ์ และนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณพ่อและคุณแม่ ของ คุณหมอกระต่าย ทีม Rabbit Crossing สื่อมวลชน และผู้ว่า กทม. กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาและวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

พญ. ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์ บอกกับว่าการเกิดอุบัติเหตุซ้ำในจุดทางม้าลายเดิมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งๆ ที่จุดดังกล่าวมีสัญญาณไฟแดงติดตั้งไว้อย่างชัดเจน

ปัญหาที่เกิดขึ้น คงต้องย้อนกลับมาดูถึงตำแหน่งทางข้ามด้วย ว่ามีความปลอดภัยและเหมาะสมแค่ไหน ตนเคยใช้วิธีสอบถามกับแท็กซี่ไม่ต่ำกว่า 10 คน ส่วนใหญ่บอกว่า ในความเป็นจริง ทุกคนอยากหยุดรถเพื่อให้คนข้ามทางม้าลาย แต่ในบางจุด คนขับไม่รู้ว่าจะถึงทางม้าลาย เพราะไม่มีเครื่องหมายจราจร หรือ อุปกรณ์ที่จะทำให้รู้ว่าต้องชะลอรถ เช่น Optical Speed Bar (OSB) หรือเส้นที่เป็นลักษณะเป็นบั้ง ตีทับเส้นจราจรเมื่อขับขี่ทับเส้นจะได้รับแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย ทำให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วลง ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ หรือ แถบ Rumble Strips ที่เคยมีการวิจัยว่าสามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนทางสองช่องจราจรในย่านชุมชน ถึง 64% และช่วยลดการที่รถอาจตกจากถนนลงได้ 36% บนทางสองช่องจราจรของทางหลวงชนบททั่วไป

ด้าน ดร. ศศดิศ บอกว่า ในหลายประเทศ มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องชีวิตของคนใช้รถ ใช้ถนน และ คนเดินเท้า เช่น ในประเทศจีน มีการติดตั้ง ELLUMIN Intelligent Pedestrian System เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของทางม้าลายธรรมดา โดยเพิ่มไฟส่องสว่างติดตามป้าย ข้างทางม้าลาย และเซ็นเซอร์ตรวจจับอัจฉริยะ เมื่อมีคนรอข้าม จะมีการส่งเสียงเตือน และมีปุ่มให้กดรอสัญญาณไฟ เมื่อกำลังมีคนข้ามถนน ไฟบนเสาสัญลักษณ์คนข้ามถนนและไฟข้างทางม้าลายจะกะพริบเป็นจังหวะ ให้สัญญาณรถที่ผ่านไปมาว่ากำลังมีคนข้ามถนนอยู่นั่นหรือในเกาหลีใต้ ที่ล่าสุด มีการติดตั้งอุปกรณ์ ที่เรียกว่าSmart Crosswalk สำหรับเตือนคนเล่นมือถือ ระหว่างเดินบนถนนหรือแม้แต่เดินข้ามถนน โดยพัฒนาทั้งไฟบอกสัญญาณและระบบเสียงแจ้งเตือนเมื่อมีคนเข้าใกล้จุดข้ามให้ระวัง นอกจากนี้ยังมีกล้องและเซ็นเซอร์คอยตรวจจับ ถ้ารถคันไหนขับฝ่าทางม้าลายมา เลขป้ายทะเบียนรถและรายละเอียดอื่นๆ จะปรากฏบนจอทันที 

ผศ.ดร. พงษ์พันธ์ แทนเกษม สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าม้าลายที่ดี จะต้องมี 11 องค์ประกอบพื้นฐาน เพื่อยกระดับทางข้ามไทยให้ปลอดภัย ดังนี้

1. ทางม้าลาย

2. เส้นหยุด แบบ Advance Stop Line มีระยะหยุดห่างจากทางม้าลายมากกว่า เพื่อเพิ่มมุมมองในการมองเห็น

3. เส้น Optical Speed Bar (O.S.B.) เพื่อบีบช่องจราจรให้แคบลง

4. ป้ายเตือนว่ามีทางข้าม

5. สัญลักษณ์บนผิวจราจรเพื่อเพิ่มความชัดเจนของผู้ขับขี่

6. อาจจะเพิ่มกรวยยางให้เห็นชัดขึ้น และเพื่อบีบช่องจราจรให้แคบลง

7. ติดสัญญาณไฟกะพริบ

8. อาจจะทำเกาะกลางถนนให้คนข้ามได้หยุดพัก

9. ราวข้างถนนเพื่อบีบให้คนข้ามต้องมาข้ามที่ทางม้าลาย

10. มีไฟส่องสว่างให้เห็นได้ชัดเจนยามกลางคืน

11. สุดท้ายถนนที่มีคนข้ามมากๆ อาจจะต้องติดสัญญาณไฟเขียว ไฟแดง เพื่อให้รถต้องหยุดให้คนข้าม

ทั้งนี้เมื่อทางม้าลายปลอดภัยตามหลัก มีครบทุกองค์ประกอบแล้ว ยังต้องใช้กลไกทางกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษทางกฎหมายสำหรับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด เด็ดขาด ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติทางม้าลายถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย และมีโทษบทลงโทษผู้ขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และกำหนดไว้ในมาตรา 46 หากขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางข้าม และเมื่อเข้าที่คับขันหรือเขตปลอดภัย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400–1,000 บาท นอกจากนี้ หากผู้ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็จะมีความผิดฐาน “ขับประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”