โรคมะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน และเพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง จึงได้กำหนดวันมะเร็งโลก ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตนเอง
สำหรับมะเร็งที่เกิดกับหญิงไทยนั้น จากองค์การอนามัยโลก ในปี 2563 พบว่าโรคมะเร็งร้ายที่ต้องระวังอันดับมากที่สุดคือ มะเร็งเต้านม อันดับ 2 มะเร็งลำไส้ใหญ่ อันดับ 3 มะเร็งปากมดลูก อันดับ 4 มะเร็งตับ อันดับ 5 มะเร็งปอด
มะเร็งเต้านมที่พบมากที่สุดในผู้หญิง อัตราการเกิดทั่วโลกพบว่าผู้หญิง 8 รายพบโรคมะเร็ง 1 ราย ส่วนอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในไทยคิดเป็น 37.8 ราย ต่อประชากรแสนราย จำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 12.7 ราย ต่อประชากร 1 แสนรายปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว และน้ำหนักตัวมาก หรือเคยมีประวัติตรวจพบก้อนที่เต้านมมาก่อน อาการของโรคสามารถสังเกตได้จากภายนอก ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ขนาดหรือสีผิวของเต้านม และมีของเหลวไหลออกจากหัวนม หรือคลำเป็นก้อนได้ที่เต้านมหรือรักแร้
จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาลประเทศไทยส่วนมาก พบในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 หากพบโรคตั้งแต่ระยะแรก โอกาสการรักษาที่จะหายขาดมากขึ้น จึงแนะนำผู้หญิงไทยควรตรวจมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง โดยพบว่าการตรวจด้วยตนเอง สามารถพบก้อนมะเร็งที่เต้านมได้เร็วขึ้น หากพบก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร มีอัตราการรอดชีวิตที่ดีกว่าคนที่พบก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่แล้ว
ในส่วนการตรวจคัดกรองควรตรวจเมื่อประจำเดือนหมดไปแล้ว 7-10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมนิ่มแล้ว หากตรวจก่อนที่มีประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนหมาดๆ จะตรวจเต้านมได้ยากและเจ็บ
– ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 20 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน ในช่วงอายุที่ไม่จำเป็นตรวจแมมโมแกรม
– ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 2 ปี
– ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 1 ปี
– ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 1-2 ปี
ส่วนกลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองทุกปีที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่รังไข่ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม และผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณหน้าอก ผู้ที่มีประวัติชิ้นเนื้อเต้านมพบเซลล์ผิดปกติ และผู้ที่ได้รับประทานฮอร์โมนเสริมทดแทนวัยหมดประจำเดือนเป็นประจำมากกว่า 5 ปี
แนวทางการรักษาหลักคือการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็นการผ่าตัดแบบสงวนเต้าและการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ อาจจำเป็นต้องให้การฉายรังสี และหรือการให้ยาเคมีบำบัด และหรือการให้ฮอร์โมนบำบัดร่วมด้วย
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่คิดเป็น 15.2 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย ในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 8 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย อย่างไรก็ตามมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ พันธุกรรม บุคคลที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป มีอาการท้องผูกเป็นประจำ รับประทานเนื้อสัตว์จำนวนมาก ผักและผลไม้น้อย ไม่ออกกำลังกาย ส่วนแนวทางการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก และผลไม้ อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำ
และให้รับการตรวจคัดกรองในผู้ที่ไม่มีอาการ และไม่มีในปัจจัยเสี่ยง ควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี ส่วนผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือที่อายุ 5 ปี ก่อนอายุของคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบชนิด Crohn’s disease และ Ulcerative colitis หรือผู้ป่วย ที่มีติ่งเนื้องอกจำนวนมาก (Polyposis Coli) การตรวจอาจเริ่มในอายุที่เร็วขึ้น
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (เริ่มต้นอายุ 50 ปี) ให้ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าปีละครั้ง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายร่วมกับการตรวจการตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง ทุก 5 ปี ทั้งนี้ควรทำในสถาบันที่มีเครื่องมือที่มีความละเอียด แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 9 มิลลิเมตรได้มากกว่า 90 % แนวทางการรักษา การรักษาในระยะต้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายรังสี
มะเร็งปากมดลูก อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกคิดเป็น 16.4 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย ในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 7.4 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ป้องกันชั้นเริ่มแรกที่ปากมดลูกไม่ให้ติดเชื้อ HPV ได้ และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกป้องกันชั้นที่สอง มองหารอยโรค เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการแสดงมักไม่มีอาการในช่วงแรก จะมีอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรงมากขึ้น อาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือจากการตรวจภายในบางรายอาจจะมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบเดือน มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยทองแล้ว มีภาวะตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีอาการปวดท้องน้อย
สาเหตุหลัก คือการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) หากผู้หญิงติดเชื้อ HPV จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ปากมดลูก ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีเพศสัมพันธ์หลายคน สูบบุหรี่ มีลูกมาก และผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
1. แป๊บสเมียร์ เป็นการเก็บเซลล์ปากมดลูกมาป้ายบนสไลด์
2. ลิควิดเบส เป็นการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกมาเก็บไว้ในน้ำยา เพื่อรักษาเซลล์ และกำจัดสิ่งปนเปื้อนพวกมูก หรือพวกเม็ดเลือดแดง
3. HPV DNA Test เป็นเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล ที่จะตรวจหาตัวเชื้อ HPV ได้โดยตรงทำให้สามารถตรวจหาระยะของโรคก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง วิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน คือเก็บเซลล์บริเวณตัวอย่างที่ปากมดลูกช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจเหมือนวิธีการตรวจด้วยน้ำยา
คำแนะนำในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุน้อยกว่า 25 ปี ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรอง (ยกเว้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ติดเชื้อ HIV มีคู่นอนหลายคน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์) และ เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 25 ปี (เมื่อมีเพศสัมพันธ์) และเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 30 ปี (เมื่อยังไม่มีเพศสัมพันธ์)ด้วยวิธีต่อไปนี้ HPV DNA testing/Co-testing ทุก 5 ปี หรือ Cytology อย่างเดียว ทุก 2 ปี
(ส่วนมะเร็งตับ และมะเร็งปอดจะนำเสนอในตอนต่อไป)
ข้อมูลจาก: ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)พญ.อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ อาจารย์หน่วยรังสีรักษาเเละมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่