การจากไปอย่างกะทันหันของนักแสดงชื่อดังของไต้หวัน ต้าเอส หรือ สวีซีหยวน วัย 48 ปี ระหว่างท่องเที่ยวในญี่ปุ่น เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และมีภาวะแทรกซ้อนเป็นปอดบวม มีรายงานว่าต้าเอสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
เธอติดเชื้อได้อย่างไร และคาดว่าจะเป็นที่ไหนไม่มีการระบุรายละเอียดไว้ แต่ตอนนี้สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ดีนัก ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องติดตามดูสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นกันให้ดี ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธันวาคมปีที่แล้ว จากข้อมูลของ China Media Group ระบุว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น ประมาณการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2567 ถึง 26 มกราคม พ.ศ. 2568 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 9.523 ล้านราย (ข้อมูลเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568)
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2568 ว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 มีจํานวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่รายสัปดาห์สูงสุดนับตั้งแต่ เริ่มเก็บบันทึกในปี พ.ศ. 2542 สถาบันทางการแพทย์ประมาณ 5,000 แห่งรายงานผู้ป่วย 317,812 รายในช่วงสัปดาห์นั้น หรือโดยเฉลี่ย 64.39 รายต่อสถานพยาบาล สูงกว่าเกณฑ์คําเตือนของรัฐบาลที่ 30 ราย
ทางการญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เพิกเฉย เรียกร้องให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมืออย่างทั่วถึง นอกจากไข้หวัดใหญ่แล้ว ญี่ปุ่นยังประสบกับการระบาดของ ไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้น โดยมีไก่และนกอื่นๆ ประมาณ 5 ล้านตัวถูกคัดออกใน 5 จังหวัดเมื่อเดือนมกราคม โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศเตือนว่าการระบาดไม่มีสัญญาณว่าจะชะลอตัวลง
สำหรับประเทศไทยเองโรคไข้หวัดใหญ่ก็ยังพบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุด คือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันตามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือ A B และ C แน่นอนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีความรุนแรงมากที่สุด
โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนไข้หวัดเกิดจากไวรัสชนิดอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน โดยอาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่นั้นมีความใกล้เคียงกัน เช่น มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูกไหล เหมือนกันเพียงแต่ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียหมดแรง ปวดศีรษะรุนแรง
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงนั้น โดยทั่วไปผู้ที่ร่างกายแข็งแรง อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่หากเป็นผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคปอด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง เป็นต้น อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีการป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ดูแลสุขลักษณะของตนเอง และคนรอบข้าง เช่น ใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัส รวมไปถึงการล้างมือบ่อยๆ ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่ติดอยู่ตามพื้นผิวสิ่งของและเข้าสู่ร่างกายจากการป้ายตา จมูก และปากได้เป็นอย่างดี
3 .ฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี เพราะการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งจะป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนเท่านั้น โดยภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อสายพันธุ์นั้นๆ จะ ค่อยๆ ลดลงเมื่อผ่านไป 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใหม่ในทุกปี เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะมีการระบาดในปีนั้นๆ ที่บรรจุในวัคซีนอีกด้วย
ข้อมูลไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยโดย : รศ.นพ. จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล