back to top

แนะปักเป้านักท่องเที่ยวผู้สูงวัย เร่งพัฒนาเมืองรอง-เสริมขนส่งสาธารณะ

อเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ทัวร์ริซึม แอนด์ สปอร์ต คอนเซปต์ดึงดูดนักท่องเที่ยวปี 2568 ของรัฐบาล เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 39 ล้านคน กวาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยความตั้งใจผลักดันประเทศไทยเป็น Tourism Hub ระดับโลก

เรื่องนี้จะทำได้หรือไม่อย่างไร รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประเมินว่า โครงการอเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ทัวร์ริซึม แอนด์ สปอร์ต (อเมซิ่ง ไทยแลนด์ฯ) ที่จะผลักดันกันในปี 2568 โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามายังประเทศไว้ที่ 39 ล้านคน หวังกวาดรายได้ 3-3.5 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ และหากย้อนกลับไปดูยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยในปี 2567 พบว่ามีจำนวน 35.5 ล้านคน การเพิ่มอีกเพียง 5 ล้านคน เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 39-40 ล้านคน คงไม่ใช่เรื่องยาก

รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดของโครงการแล้ว ส่วนตัวมองว่ายังเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิม เช่นเดียวกับเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา คือมีการจัดกิจกรรมดนตรี อาหาร กีฬา ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายเดิมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยอยู่แล้ว การมุ่งเน้นไปที่ดนตรี กีฬา จะได้นักท่องเที่ยวในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานเป็นหลัก แต่คนกลุ่มนี้จะอยู่ในประเทศไทยสั้น จับจ่ายใช้สอยน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ

ให้น้ำหนักไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ และมีเวลาในการท่องเที่ยวหรือพร้อมที่จะอยู่ในประเทศเป็นเวลานานจะดีกว่าเป็นแนวทางที่รศ.ดร.สายฝน เห็นด้วยมากกว่า โดยระบุเหตุผลว่า คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตภายหลังการเกษียณจากการทำงาน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ส่วนตัวจึงอยากให้รัฐบาลพูดถึงเรื่องการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ผ่านการออกแบบเมืองที่เป็นมิตร และมองไปที่เศรษฐกิจผู้สูงวัย (silver economy)

“นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัยเขาไม่ได้ต้องการแหล่งท่องเที่ยวเยอะๆ วันหนึ่งอาจจะไปแค่ 1–2 สถานที่เท่านั้น และเขาต้องการมาเที่ยวเมืองเล็กๆ หรือเมืองรอง ไม่ได้ต้องการไปเมืองใหญ่ๆ เขาต้องการการเที่ยวที่เน้นความสบาย อยู่แล้วรู้สึกเหมือนได้รับการพักผ่อน มีความปลอดภัย มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้ง่าย รวมถึงผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเข้าใจและต้อนรับพวกเขา” รศ.ดร.สายฝน กล่าว

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ควรต้องออกแบบให้ผู้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นว่าที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่อยากจะมีประสบการณ์ร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยชุมชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะสามารถเข้ามาให้บริการกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับคนในชุมชน และพัฒนาระบบนิเวศให้มีความพร้อมในการรองรับ สิ่งเหล่านี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ และกำลังเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

สิ่งที่อยากจะฝาก คือ การพัฒนาขนส่งมวลชน เพราะเรื่องนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีความยากลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะเมืองเล็กๆ หรือเมืองรองซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ถ้ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องเมืองรอง จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเองได้โดยสะดวกด้วยผ่านรถบริการสาธารณะที่เข้าถึงได้