การที่สังคมไทยในปัจจุบันนิยมที่จะอยู่เป็นโสด เลือกที่จะมีความพร้อมทั้งงานและเงินก่อนที่จะคิดเรื่องการแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ทำให้อายุของคู่สมรสมีแนวโน้มสูงขึ้น และทำให้โอกาสมีลูกได้น้อยลง บางคู่ประสบปัญหามีลูกยาก ทำให้ พ.ศ. 2564 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีอัตราการตายมากกว่าจำนวนการเกิดเป็นครั้งแรก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ คาดการณ์จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2566 เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2626 และสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับไทยแต่เกิดกับทั่วโลก อย่างไรก็ตามอาจไม่ได้จบลงที่ตัวเลขนี้ เพราะมีคู่สมรสที่มีความพร้อมกำลังเดินเข้าหาศูนย์บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกำลังโตวันโตคืนโดยเฉพาะที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน เนื่องจากการบริการที่ตอบโจทย์มากกว่าโรงพยาบาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากว่า ตลาดในไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโต 6.2% จากปี 2567 มีมูลค่ากว่า 6,300 ล้านบาท สอดคล้องไปกับเทรนด์ของโลก
นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC หนึ่งในผู้ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ระบุว่าตลาดนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าราว 25,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของไทยปัจจุบันน่าจะแตะ 7,000-8,000 ล้านบาท และจะเติบโตอีกหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้

โดยเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น Medical Hub ในส่วนของบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ เพราะมีความพร้อมทั้งการให้บริการครบวงจร ขณะที่เทคโนโลยีไทยก็ไม่แพ้ต่างชาติ รวมถึงความสามารถของบุคลากรการแพทย์ และค่าบริการที่ถูกกว่าในหลายประเทศ 2-3 เท่า เมื่อเทียบสหรัฐ หรือสิงคโปร์ ปัจจุบันจึงมีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา เพราะเรามีสาขาที่อุบลราชธานีด้วย และจะเปิดสาขา GFC Rama 9 International ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 รองรับการบริการของต่างชาติ โดยอัตราค่าบริการจะสูงกว่าคนไทยเล็กน้อยหรือเฉลี่ย 4.5-5 แสนบาทต่อครั้ง คาดว่าในปีนี้สัดส่วนผู้รับบริการต่างชาติน่าจะเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบัน 5% ส่วนใหญ่ 90% ยังเป็นคนไทย
นอกจากนี้ยังมีลูกค้ากลุ่ม LGBTQ ที่ติดต่อสอบถามเข้ามามากหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนของหญิงรักหญิงนั้นจะทำได้ง่ายกว่า ขณะที่ชายรักชายต้องมีเรื่องการอุ้มบุญเข้ามาเกี่ยวข้องที่ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งต้องติดตามดูต่อไปว่าจะมีการปรับแก้ไขอย่างไรหรือไม่หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาแล้ว
สำหรับการบริการฝากไข่ (egg freezing) ก็กำลังเป็นที่นิยมของผู้หญิงรุ่นใหม่มากขึ้นปัจจุบัน GFC มีอัตราเติบโต 3% เนื่องจากผู้หญิงอาจยังไม่พร้อมมีบุตรในตอนนี้ แต่เก็บไข่ในช่วงที่ร่างกายพร้อมไว้ก่อน ซึ่งสามารถเก็บได้ 5-10 ปี โดยแนะนำให้ผู้หญิงที่มีความพร้อมอายุ 20 ปีเศษขึ้นไปมาเก็บได้ แต่ที่เหมาะสมอายุประมาณ 31-35 ปี โดยอัตราค่าบริการของ GFC อยู่ที่ 1.7 แสนต่อการฝากไข่ 20 ใบตลอด 5 ปี ซึ่ง GFC Rama 9 International ได้สร้างธนาคารไข่ที่ทันสมัยเก็บได้จำนวนมากรองรับผู้มาใช้บริการ
นอกจากนี้ GFC ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้น ทั้งการซื้อกิจการ และการขึ้นไปผลิตต้นน้ำ เช่น น้ำยา โดยปีนี้จะได้เห็นการขยายธุรกิจบางส่วน
“ทั้ง 3 สาขา คือ GFC Ubon, GFC Rama 9 International และ GFC Rama 3 เรามีแพทย์รองรับ 6 คน และนักวิทยาศาสตร์ 20 กว่าคนที่มาทำงานร่วมกันเป็นทีมทำให้อัตราประสบความสำเร็จมีได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ GFC”



ด้าน นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GFC ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เป็นเคสยากๆ เข้ามามากขึ้นหลังจากผู้มีชื่อเสียงมาทำกับเราแล้วประสบความสำเร็จหลายราย ซึ่งตอนนี้อัตราทำแล้วประสบความสำเร็จของเราอยู่ที่ 73% ซึ่งถือว่าสูง เราจะขยับไปให้ถึง 75% และจะรักษาระดับนี้เอาไว้ โดยเฉลี่ยผู้มาใช้บริการจะต้องทำ 2-3 ครั้งจึงจะสำเร็จ หรือบางรายไม่สำเร็จก็มี จึงเน้นการสื่อสารกับผู้รับบริการให้เข้าใจ เพราะเราไม่ได้การันตีว่าต้องสำเร็จทุกกรณีขึ้นกับสุขภาพของผู้หญิง
ในส่วนของการขยายผู้รับบริการชาวต่างชาตินั้น เราได้ตั้งเอเจนซี่แล้ว 4-5 ราย ตอนนี้เราดูกลุ่มลูกค้าจีนก่อน และจะขยายกลุ่มลูกค้าประเทศอื่นๆ ต่อไป โดยจะเน้นเจาะกลุ่ม CLMV อินเดีย ตะวันออกกลาง ลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติที่มากขึ้น คาดว่าปีนี้เราจะเติบโตได้ถึง 20% ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีมังกรทองเราเติบโตถึง 30%

สำหรับอัตราค่าบริการของ GFC เฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อครั้ง ซึ่งผู้มาใช้บริการจะอยู่กับเราประมาณ 2 เดือนจากนั้นก็จะไปฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาลต่อไป โดยเราจะขยายสาขาตามหัวเมืองต่างๆ ให้สะดวกในการเดินทาง และการดีลกับโรงพยาบาลรับฝากครรภ์ที่เหมาะสม เพราะเมื่อใช้บริการสาขาไหนแล้วก็จะเคลื่อนย้ายได้ยากป้องกันการกระทบกระเทือน
อย่างสาขาอุบลราชธานีจะรองรับผู้เข้ารับการรักษาได้ครอบคลุมในพื้นที่อุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนสาขาพระราม 9 ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ในวันที่ 21ก.พ. 2568 จะรองรับลูกค้าต่างประเทศได้เต็มรูปแบบ มีห้องวิจัยและห้องปฏิบัติการสำหรับนักวิทยาศาสตร์รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ภายในของกลุ่มบริษัท (In-house training)
ปัจจุบันทั้ง 3 สาขาให้บริการผู้เข้ารับการรักษาสำหรับผู้มีบุตรยากครอบครบ ตั้งแต่การตรวจเบื้องต้น, การรักษาด้วยวิธี ICSI, การฝากไข่ และการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน PGT-A รวมถึงชูนวัตกรรมการนำเอาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ PGT-A Plus มาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจความผิดปกติของพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคัดกรองหาตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์และเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์
