back to top

ใครชอบกินก๋วยเตี๋ยวต้องระวัง!

ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ มื้อละไม่เกิน 700 มิลลิกรัม ประมาณ 1 ช้อนชา ซึ่งนอกจากข้าวจะเป็นอาหารประจำของเราในแต่ละมื้อแล้ว ก็มีก๋วยเตี๋ยวเราก็กินแทนข้าวได้ทุกมื้อ ซึ่งเป็นอีกเมนูที่แฝงด้วยโซเดียมที่มากเกินไป โดยก๋วยเตี๋ยวยอดฮิตแต่ละชนิด มีปริมาณโซเดียม ดังนี้

1. ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส 1 ชาม ปริมาณ 500 กรัม มีปริมาณโซเดียม 1,406 – 2,397 มิลลิกรัม

2. ก๋วยเตี๋ยวหมู/ไก่ตุ๋น 1 ชาม ปริมาณ 500 กรัม มีปริมาณโซเดียม 1,782 – 2,072 มิลลิกรัม

3. ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก 1 ชาม ปริมาณ 500 กรัม มีปริมาณโซเดียม 2,104 – 2,316 มิลลิกรัม

4. ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ 1 ชาม ปริมาณ 500 กรัม มีปริมาณโซเดียม 1,304 – 2,862 มิลลิกรัม

5. ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ 1 ชาม ปริมาณ 500 กรัม มีปริมาณโซเดียม 2,233 – 2,723 มิลลิกรัม

ดังนั้นหากใครกินเป็นประจำก็ต้องระวังโซเดียมเกินด้วย หลีกเลี่ยงการปรุงเพิ่ม และลดซดน้ำซุปจนหมดชาม เพื่อลดการได้รับโซเดียมที่เกินในแต่ละมื้อ

อะไรจะเกิดขึ้นหากบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ จะก่อให้เกิดการเสื่อมของไต เพราะไตทำหน้าที่ขับโซเดียม เมื่อไตทำงานได้ลดลงจะทำให้มีการคั่งของเกลือ มีการบวมน้ำ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเกิดโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

ดังนั้นหากเราละเลยคิดว่าไม่เป็นไรแค่มื้อนี้ แต่จริงๆแล้วเราสะสมโซเดียมทางอื่นได้อีก เพราะโซเดียมพบในอาหาร เนื้อสัตว์ อาหารจากธรรมชาติ นอกจากนั้น เราบริโภคโซเดียมในรูปแบบของเกลือแกง อาหารสำเร็จรูป วัตถุปรุงรส ตลอดจนถึงขนมกรุบกรอบที่ใส่ผงฟูทุกชนิด จึงเกิดการสะสม

การมีภาวะความดันโลหิตสูง การเป็นโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้คุณภาพชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสจัด หลีกเลี่ยงการใส่วัตถุปรุงรสในอาหารทุกชนิด

ข้อมูลจาก กรมอนามัย, อ.นพ.สุกิจ รักษาสุข ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล