back to top

โรคปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้าที่ทำรูปทรงดูน่าสนใจ ทันสมัย น่าดึงดูด มีรูปแบบคล้ายขนม หรือของเล่น หรืออุปกรณ์การเรียน รวมถึงมีการแต่งกลิ่นและรสชาติให้เลือกมากมาย ทำให้วัยรุ่นหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ตัวเลขจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระบุถึงผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) พบเด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่าจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6%ในปี 2565 แม้ไทยมีกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่าย ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการตลาดของผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ดึงดูดใจเด็ก และเยาวชนให้เข้าถึงได้ง่ายจากภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และหาซื้อง่ายทางออนไลน์ 

การสูบบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายคนสูบแล้ว ละอองไอที่พ่นออกไปยังส่งผลร้ายทำลายสุขภาพคนรอบข้างอีกด้วย เพราะว่าในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษกลุ่มโลหะหนักอันตรายหลายชนิด ที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า มีผลงานวิจัยจำนวนมาก ในต่างประเทศที่ตรวจสอบพบสารพิษกลุ่มโลหะหนักในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และละอองไอในบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารโลหะหนักเหล่านี้ จะหลุดลอกจากขดลวดในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบ เมื่อขดลวดร้อนจะทำให้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าระเหยเป็นละอองไอ ในขณะที่โลหะหนักบางส่วนมีสาเหตุมาจากสารแต่งกลิ่นรสในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า

สำหรับสารพิษกลุ่มโลหะหนักอันตรายหลายชนิดในบุหรี่ไฟฟ้า จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่า มีทั้งอะลูมิเนียม แคดเมียม โคบอลต์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่วแมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้ เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจของผู้สูบและผู้ใกล้ชิดได้อีกด้วย เนื่องจากอนุภาคโลหะหนักมีขนาดเล็กมาก รวมถึงยังพบสารโลหะหนักตกค้างภายในร่างกายของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพบปะปนอยู่ในเลือด ปัสสาวะ น้ำลาย เมื่อสูดเข้าสู่ทางเดินหายใจ บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดในปอด ถูกพาไปยังอวัยวะต่างๆ บางส่วนจะตกค้างและสะสมอยู่ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดเกิดการอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงเป็นมะเร็ง

ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคสำคัญ คือ โรคปอดอักเสบ หรือ EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) หรือโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปอดเป็นฝ้า หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ทันที

สำหรับ 5 ความจริงของบุหรี่ไฟฟ้า มีดังนี้ 

1) บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่แพ้บุหรี่ธรรมดา บุหรี่ไฟฟ้ามีโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้เป็นโรคปอดบวม โรคหลอดเลือดและหัวใจ

2) บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินระดับสูง ต่างจากยาเลิกบุหรี่ที่ทางการแพทย์ใช้งานมีนิโคตินระดับต่ำ

3) บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวนำสู่การสูบบุหรี่มวน งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เด็กที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มพัฒนาไปสูบบุหรี่มวนมากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 2-4 เท่า

4) บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกายและทางเดินหายใจ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ 20-50 มวน และสามารถเสพยาเสพติดง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไปถึง 10 เท่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารปรุงแต่งกลิ่น รส ที่แปลกปลอมต่อร่างกายมากกว่า 16,000 ชนิด เช่น ฟอร์มาลีน เบนซิน ยาฆ่าแมลง ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมเส้นเลือดฝอยอักเสบ

5) เซลล์มะเร็งเติบโต นิโคตินเป็นตัวกระตุ้นและสร้างเส้นเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงเนื้องอก ทำให้เนื้อมะเร็งโตเร็วขึ้น

ทั้งนี้มาย้ำกันถึงโทษของสารนิโคตินที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย ประกอบด้วย 

-ระบบการหายใจ : เกิดการระคายเคือง ไอ เหนื่อยง่าย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

– ระบบหลอดเลือดและหัวใจ : ภาวะหลอดเลือดแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น

– ระบบประสาทและสมอง เซลล์สมองถูกทำลาย อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำลดลง เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง

– ระบบทางเดินอาหาร : ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อยกรดไหลย้อนและอาจนำไปสู่โรคมะเร็งส่วนผู้ที่สัมผัสสารพิษที่ตกค้างจากควันบุหรี่หรือที่เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบ

ทั้งนี้หากต้องการเลิกบุหรี่ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร.1600 หากพบการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้แจ้งเบาะแสไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3850 และสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422