แพลตฟอร์ม “กินดี” AI คำนวณแคลอรีอาหาร เป็นฟังก์ชันใน พร้อมให้ใช้งานได้แล้ววันนี้ โดยเข้าไปใช้บริการใน “หมอพร้อม Line OA” เพียงถ่ายภาพอาหารหรือพิมพ์ชื่อเมนู ช่วยประชาชนรู้แคลอรี สัดส่วนโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตแต่ละมื้อแต่ละวัน ง่ายต่อการนับคาร์บ ตั้งเป้าหมายสุขภาพ วิเคราะห์และปรับพฤติกรรมการกิน ลดความเสี่ยงโรค NCDs
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักสุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับ “แพลตฟอร์มกินดี” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรีของอาหารทุกประเภทผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำมาใช้งานผ่าน “หมอพร้อม Line OA” ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน เพื่อตอบรับนโยบายควบคุมโรค NCDs และนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ที่จะพัฒนาและนำเทคโนโลยี AI มาสนับสนุนนวัตกรรมด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันได้เพิ่มฟังก์ชัน “กินดี” ในแถบเมนูของหมอพร้อม Line OA แล้ว ผู้ใช้งานเพียงคลิกฟังก์ชัน “กินดี” จะสามารถถ่ายรูปอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ หรือพิมพ์แชต โดยพิมพ์คำว่า “เพิ่ม”เว้นวรรค แล้วตามด้วย “ชื่อเมนูอาหาร” ซึ่ง AI จะประมวลผลและให้ข้อมูลส่วนประกอบของอาหารนั้น ปริมาณแคลอรี สัดส่วนโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงคำแนะนำด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มกินดียังมีฟีเจอร์ในการช่วยตั้งเป้าหมายสุขภาพ ช่วยวิเคราะห์การกิน ตรวจสอบประวัติการกินอาหาร และแนะนำอาหารที่เหมาะสมได้ด้วย คาดว่าการผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มกินดี จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับพฤติกรรมและควบคุมการกินอาหารให้เหมาะสม ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค NCDs ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้แพลตฟอร์ม “กินดี” ใน “หมอพร้อม Line OA” ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรีของอาหาร เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนแนวทาง “คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” ที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินงานในปี 2568 ซึ่ง NCDs เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย นำมาสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจแลกะหลอดเลือด เป็นต้น
ดังนั้น จึงต้องเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ผ่านการคำนวณพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และกินแบบนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากกลุ่มข้าว แป้งและน้ำตาล ให้ไม่เกิน 20% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการใช้กลไก อสม. ช่วยขับเคลื่อนการส่งต่อความรู้ในการนับคาร์บไปสู่ประชาชนแล้ว ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้นำเทคโนโลยี AI มาช่วยให้ประชาชนสามารถคำนวณคาร์บในอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย