ทิศทางสุขภาพคนไทยในปี 2568 จะไปในทิศทางใด ต้องย้อนกลับมาทบทวนดูว่าสถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2567 เป็นอย่างไร เพื่อเดินหน้ารณรงค์ในปีนี้ ข้อมูลจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รวบรวมองค์ความรู้จากสถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2567 ในประเด็นกระแสสังคม 7 ประเด็น ดังนี้
1. สำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป พบปี 2566 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด โลกร้อนขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศ ระบบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยไทยเสี่ยงจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด
2. ชีวิตจมฝุ่น รายงานคุณภาพอากาศปี 2566 พบไทยมีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 มคก./ลบ.ม. มากกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึงเกือบ 5 เท่า โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ 1,224 มวน ส่งผลให้มีผู้ป่วยทางเดินหายใจกว่า 11 ล้านคนต่อปี
3. พบผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566
4. ต่างวัยต่างติดจอ จากพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 7.04 ชม./วัน แต่กลับมีความรู้ด้านการป้องกันภัยออนไลน์ต่ำ ส่งผลให้เสพติดพนันออนไลน์ โดนกลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ
5. เด็กอ้วนเพิ่ม ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็มีโรคความดันพุ่ง โดยพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สูงถึง 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 4 แสนคนต่อปี ส่วนเด็กที่อ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 4.8 ล้านคนในปี 2566 เป็น 5.3 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มชง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป
6. พบคนไทยป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 28.8 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 53 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2566
7. บุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพปี 2566 พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% จากการตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์สีสันสดใส ทันสมัย และกลิ่นหอม โฆษณาว่าเป็นสินค้าที่เท่และปลอดภัย ประกอบกับผู้ปกครองขาดความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากโรคทางกายแล้ว คนไทยเผชิญหน้ากับโรคทางใจเช่นกัน ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2566 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากรแสนคน และยังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยสุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มวัยทำงาน โดยพบมีความเครียดในการทำงาน 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% การรักษาในโรงพยาบาลจึงอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
โดยแนะนำแนวทางการสร้างนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงานควรทำใน 6 เรื่อง ประกอบด้วย
1. เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 2. อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 3. เพิ่มสวัสดิการการลา 4. ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 5. สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 6. เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน ช่วยให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ
ในส่วนโรคทางกาย น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ระบุว่า สสส. จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานป้องกันและลดอัตราป่วยด้วยโรค NCDs โดยสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้ จุดประกายการเปลี่ยนแปลง เช่น ขับเคลื่อนเรื่องเหล้าในกลุ่มผู้หญิง ว่าเหล้ามีผลต่อมะเร็งเต้านม หรือกรณีบุหรี่ไฟฟ้า เรื่องไอบุหรี่เกาะปอดไม่สามารถล้างได้ รวมถึงจุดประกายการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ง่าย เช่น แคมเปญ “ไขมันเริ่มสลายเมื่อออกกำลังกายอย่างน้อย 10 นาที รวมถึงสร้างกระแสสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยง เรื่องงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นต้น