เพราะเหตุใดถึงมีการกระทำความรุนแรงทั้งทางกายและใจกับบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ขณะเดียวกันทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็มีความเหงา เศร้าลึกๆ ความสัมพันธ์ของผู้คนจำนวนมากแตกสลาย หลายคนก้าวข้ามเป็นโรคซึมเศร้า และเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ, ผศ.ดร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ ประธานหลักสูตรประกาศนียบัตรจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ป.จพ.) ค้นหาคำตอบให้ฟังว่า สุขภาวะทางจิตภายในของคนในปัจจุบันเหตุใดจึงแตกต่างออกไปจากอดีต ชวนให้ดูปัจจัยสำคัญ ก็คือ ความอดทน คนยุคนี้รอได้นาน อดทนได้นาน ยับยั้งชั่งใจได้ดีมากน้อยแค่ไหน
ในอดีตเราสื่อสารด้วยการส่งจดหมายถึงกันใช้เวลาหลายวันคนในอดีตก็รอกันได้ แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เพียงแค่วินาทีเดียวเราก็สื่อสารหากันได้แล้ว ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากับยุคสมัย ส่งผลให้ความยับยั้งชั่งใจและความอดทนของผู้คนน้อยลง
เมื่อสิ่งใดก็ตามไม่สนองความต้องการได้อย่างฉับไว้ “ทุกข์ก็เกิด” เพราะในชีวิตจริงของคนเราต้องใช้ความอดทน และยับยั้งชั่งใจอยู่บ่อยๆ จากแรงกระแทกในรูปแบบต่างๆ เวลาที่มีคนว่าเรา ทำให้ไม่พอใจ เราก็ตอบโต้ออกไปทันที เพราะความยับยั้งชั่งใจมีน้อยนั่นเอง แล้วก็เกิดภาวะความไม่ได้ดั่งใจที่พรั่งพรูออกมา ทำให้เราไม่สบายใจ ไม่ได้ดั่งใจ หงุดหงิด ไม่สมปรารถนา ทุกข์เกิดง่าย สุขเกิดยาก บางคนเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองก็ทำร้ายคนอื่น หรือทำร้ายตัวเอง เพราะหาทางออกไม่ได้
ดังนั้นเราทุกคนต้องผ่านกระบวนการฝึกการเรียนรู้ชีวิต ตอนนี้ให้ถามตัวเองว่า เรารู้จักชีวิตกันหรือไม่ ชีวิตคืออะไร ประกอบด้วยอะไร และลึกๆ แล้วอยากให้ชีวิตเป็นอย่างไร หลายคนตอบไม่ได้ เราทุกคนจึงต้องฝึกฝนผ่านกระบวนการเรียนรู้ เราต้องเข้าใจขันธ์ 5 ซึ่งประกอบ รูปธรรม และนามธรรมทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้มองเป็นว่า มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นปกติ ไม่มีใครสามารถบังคับได้
“การมีธรรมะเป็นแกนกลางของชีวิต จะทำให้เราสังเกตใจและพฤติกรรมของเราเอง รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามากระทบกับชีวิตเราอย่างไร แล้วเราจะมีทางออก”
พระมหาสุเทพ บอกว่า เราจะไม่เรียนรู้ชีวิตก็ได้ แต่เราจะเหมือนคนอยู่ไปวันๆ เมื่อไม่มีหลักคิด ความทุกข์จะเข้ามากระทบเราง่ายมาก เพราะมนุษย์เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีสังคม มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรามากมายตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุด คือ ครอบครัว ไปจนถึงรอบบ้าน ที่ทำงาน และสังคม สิ่งที่เราจะต้องฝึกกันก็คือ เราต้องฝึกสื่อสารเพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างน้อยก็เพื่อการอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวที่เรารักอย่างมีความสุข
หัวใจสำคัญมี 3 เรื่องด้วยกัน คือ การฟัง กระบวนการสนทนา และการสื่อสารออกไป เพียงแค่เราฟัง ต่างคนต่างฟังกัน ผลัดกันฟังก็ช่วยทำให้ความทุกข์ของผู้พูดคลี่คลายได้ ทั้งคนฟังก็ได้เรียนรู้ไปด้วย แล้วฟังอย่างไรถึงจะเป็นการฟังที่ทำให้ทุกข์คลี่คลายได้ มี 3ระดับด้วยกัน
1. ฟังเรื่องราว เขาบอกอะไร ซึ่งอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เราต้องจับประเด็นให้ได้
2. ฟังความรู้สึก เบื้องหลังคำพูด หรือเรื่องเล่าของเขามีความรู้สึกใดซ่อนอยู่ เช่น กำลังไม่สบายใจ กังวล เหนื่อย เบื่อ ท้อแท้ เศร้า
3. ความคิดในเบื้องลึกเขาเป็นอย่างไร ตัวความคิดที่ทำให้เขารู้สึกเช่นนั้นเป็นอย่างไร หากผู้ฟังจับประเด็นได้ก็จะย่อยความรู้สึกของเขาออกมาได้จากเรื่องราวที่เขาพูดมาทั้งหมด แล้วก็ชี้ชวนเขา
กระบวนการฟังที่สำคัญ ก็คือ ฟังให้เป็น ถามให้เป็น จับประเด็นให้เป็น สะท้อนความรู้สึก ให้ข้อมูล และให้ทางเลือกเขา เพราะคนฟังไม่รู้ทุกเรื่อง รู้ไม่เท่าคนเล่าเรื่อง คนฟังทำหน้าที่ให้ทางเลือกเขาได้เท่านั้น
แน่นอนว่าคนฟังต้องผ่านการเรียนรู้ก่อน ถึงจะเป็นคนฟังที่ทำให้ทุกข์ของคนเล่าคลี่คลายได้ ดังนั้นคนฟังที่ดีก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ชีวิต ทำความเข้าใจชีวิต ว่าชีวิตไม่แน่นอน กายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใจก็เช่นกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขึ้นๆ ลงๆ “ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย” คนฟังอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเขาได้มากนัก แต่การเป็นคนฟังที่ดีก็ช่วยความทุกข์ของคนเล่าให้คลี่คลายลงได้ เพราะทุกคนมีกรรมเป็นของตน แต่เราต้องเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะนำพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ไม่มีความทุกข์ ฟื้นตัว และสร้างฐานะด้วยตัวของตัวเอง
ทั้งนี้มี 2 เครื่องมือที่จะทำให้เราอยู่กับชีวิตที่ต้องฝ่าคลื่นลมตลอดเวลา นั่นก็คือ “สติ” ที่จะทำให้เรารู้เท่าทัน และ “สมาธิ” ที่จะทำให้ใจของเรานิ่ง และมั่นคง ทำให้อดทนได้ ไม่หนีไม่ถอย ดำรงชีวิตอยู่ได้ตราบที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราต้องมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต บางคนเป็นมะเร็ง ก็ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่าที่สุด เพราะทุกข์หรือสุขอยู่ที่ใจ ขอฝากไว้ว่าครอบครัวสำคัญมาก หากครอบครัวใดผ่านการใช้ชีวิตมาด้วยกัน จะดูแลกันและกัน และฟังกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่งเขาจะอยู่เคียงข้างใจที่เป็นทุกข์ของเราได้ ทำให้เรารู้สึกร่มเย็นและปลอดภัย
ทั้งนี้หากใครที่มีทุกข์ต้องการคนรับฟัง “ศูนย์การปรึกษา มนมันตา” ซึ่งแปลว่า “ที่ปรึกษาทางใจ” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ให้คำปรึกษาที่ก่อตัวจากจิตอาสาซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ป.จพ.) ที่ผ่านมา 4 รุ่นแล้วมีผู้ผ่านหลักสูตรร้อยกว่าคน ซึ่งบางส่วนก็ใช้การเรียนรู้ไปพัฒนางานของตน บางส่วนก็ตั้งกลุ่มทำงานจิตอาสา และบางส่วนมารวมกันเป็น “ศูนย์การปรึกษา มนมันตา” มี 36 คนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นผู้ฟัง เพื่อคลี่คลายทุกข์ให้กับผู้คนด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธ ซึ่งทุกเพศทุกวัยทุกศาสนาเข้ามารับคำปรึกษาที่ศูนย์ฯ ได้ เพราะ “ทุกข์สุขเป็นภาษาสากล” ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) เพื่อให้ได้เห็นหน้าค่าตากันระหว่างผู้ฟังและผู้ที่ต้องการปรึกษา เพราะเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ที่มีความทุกข์ได้จดจ่อและผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาได้อย่างลึกซึ้งกว่าการพูดคุยผ่านโทรศัพท์หรือแชทไลน์
จากที่เริ่มเปิดระบบเมื่อเดือนมกราคม 2568 มีผู้รับบริการ 74 คิว กุมภาพันธ์ 69 คิว ถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ที่มีความทุกข์ ซึ่งในปีแรกส่วนใหญ่เป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยฯ แต่ระยะหลังเมื่อเป็นที่รู้จักก็มีบุคคลภายนอกมาปรึกษา ความทุกข์มีทั้งความสัมพันธ์ และเรื่องการเรียน
(ผู้สนใจติดต่อนัดรับคำปรึกษาที่ Line ID: @mnmt)
