back to top

เปิด 3 สัญญาณจับโกหก ด้านอารมย์-ความคิด-คำพูด

หลายครั้งเราต่างเผชิญหน้ากับคำโกหก หรือแม้แต่ตัวเราเองอาจกำลังโกหก เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่แบบเบาไปจนถึงร้ายแรง เพื่อความราบรื่นในการดำเนินชีวิต เพื่อปกป้องจิตใจตนเอง ถนอมน้ำใจคนอื่น รักษาหน้าของคู่สนทนา เพื่อให้ดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อผลประโยชน์ หรือต้องการปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม จริยธรรม หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคู่สนทนากำลังโกหก นักจิตวิทยาให้ดูสัญญาณจากพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้

1. สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก

การพูดโกหก คือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้เชื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก หรือความรู้สึกละอายใจที่พูดโกหก หรือกรณีการแกล้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกอื่นที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ

ให้สังเกตเห็นสัญญาณของความกลัวที่แสดงออกมา เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อยๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่า หรือกลัวว่าจะถูกจับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องเสี่ยง และผู้พูดรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ 

เมื่อใดที่คู่สนทนาเป็นคนที่ไว้วางใจในตัวผู้พูดมาก หรือคนนั้นรู้สึกว่าการพูดโกหกเป็นสิ่งที่ผิดร้ายแรง ไม่ควรทำ ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกผิด หรือละอายที่พูดโกหก สัญญาณต่างๆ ความรู้สึกผิดก็จะรั่วไหลออกมาชัดเจน เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อยๆ 

กรณีที่เป็นการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง โดยโกหกว่ากำลังรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เช่น คุยเรื่องหนัง ซึ่งคู่สนทนาอาจไม่ชอบหนังที่เราชวนดู แต่เขาพยายามแสดงออกว่าชอบมาก เพื่อไม่ให้เราเสียใจ เขาต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง ดังนั้นความรู้สึกแรกที่แท้จริง อาจปรากฏขึ้นบนสีหน้าทันทีในแวบแรกที่พูดกันถึงหนังเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้คู่สนทนาเสียใจ ผู้พูดก็จะพยายามยิ้มแย้ม เพื่อกลบเกลื่อนและบอกว่า เขาชอบ หนังเรื่องนี้สนุกดี

2. สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางความคิด

การพูดโกหก คือการพูดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นมา ในขณะที่การพูดความจริง ผู้พูดไม่ต้องใช้ความพยายามในการแต่งเรื่อง แค่เล่าไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากความพยายามที่ใช้ไปในการสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแล้ว คนที่กำลังพูดโกหกยังต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางของตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดจดจ่อ ดังนั้น คนที่กำลังพูดโกหกอาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น การตอบคำถามจะช้ากว่า มีท่าทีลังเลในการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง ต้องจดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด และควบคุมกิริยาอาการไม่ให้มีพิรุธ และหากต้องทำอะไรที่ใช้ความคิดไปด้วย คนที่กำลังโกหกมักทำงานนั้นได้ไม่ดี เช่น จำข้อมูลอื่นๆ ที่เข้ามาในขณะนั้นไม่ค่อยได้ เพราะสมองกำลังยุ่งอยู่ 

แต่ก็นั่นแหละเราก็ต้องแยกแยะด้วย เพราะ บางคนอาจเป็นคนคิดช้าตอบสนองช้าโดยธรรมชาติ ท่าทีลังเลอาจมาจากเรื่องที่กำลังพูดเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็เป็นได้

3. ลักษณะของเรื่องราวและคำพูด

เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าจะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลพื้นๆ ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องโกหกเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เวลาแต่งเรื่องภายในเวลาที่จำกัด มักสร้างเรื่องราวที่น่าจะเป็นไปได้เท่าที่นึกออกในขณะนั้น ซึ่งเมื่อไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริง ก็ย่อมไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงอะไรได้มากไปกว่าข้อมูลคร่าวๆ 

อย่างไรก็ตามบางที ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาดีเกินไปก็จะดูเหมือนซ้อมมา ท่องบทมา และราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ เทียบกับเวลาคนเราเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น อาจพูดผิดบ้าง โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานาน อาจหลงลืมจำไม่ได้ เล่าไปแล้วอาจย้อนกลับมาแก้ กลับมาเติมรายละเอียด เป็นต้น

เทียบกับคนพูดโกหกที่มีเวลาเตรียมตัวซักซ้อมมาดี มักไม่ค่อยมีการพูดผิดพลาด และเล่าเรื่องยาวๆ ได้ราบรื่น ไม่มีอาการหลงลืม ไม่มีการย้อนกลับมาเติมข้อมูลอะไรในภายหลัง ทั้งนี้คำพูดที่โกหก พบว่า จะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง และมักพูดไม่เต็มเสียง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการโกหกที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกผิดหรือละอายใจ เช่น โกหกคนที่รักและไว้วางใจตนเอง นั่นเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่โกหก

มนุษย์สามัญย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการโกหกไม่ดีแน่ๆ การบอกว่าการโกหกไม่เป็นไรเป็นเพียงการหลอกซ้อนหลอก การโกหก เพื่อให้ตัวเองรอดจากสถานการณ์ เหตุการณ์ คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าผลระยะยาวเป็นอย่างไร ใครกระทบบ้าง เพราะการโกหกอาจต้องลากใครต่อใครมาร่วมด้วยช่วยกันมากมาย ราบรื่นในวันนี้แต่วันหน้าอาจเสียหายหนัก เพราะคำว่าบานปลาย อาจเล็กในตอนต้น แต่ปลายบาน เพราะคำโกหกที่คิดว่าเล็กน้อย…คิดดูให้ดี 

ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/catch-out/)