บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเราเครียดจากอะไร อาจเพราะการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ประเดประดังเข้ามาทุกๆ วันไม่ซ้ำเรื่อง ทั้งข่าวการเมือง ข่าวคดีความ ปัญหาความสัมพันธ์ของดารานักร้อง ข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังคลุกกรุ่น กระแสที่ไหลเข้ามาผ่านมือถือของเราตลอดเวลา ทำให้เราเครียดกันไม่รู้ตัว หากบวกด้วยปัญหาของตัวเองไปอีกยิ่งเครียดไปกันใหญ่
ความเครียดส่งผลกระทบในทุกๆ เรื่อง ด้านร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน โรคกระเพาะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ทำให้เกิดปัญหาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อได้ง่าย
ด้านจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน อารมณ์ร้าย หรือมีอาการซึมเศร้า โดยในจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย รวมไปถึงความรู้สึกขาดความภูมิใจในตนเอง ขาดสมาธิ
ด้านพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย ไม่อยากทำอะไร ขาดความอดทน เบื่อง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง เริ่มปลีกตัวจากสังคม ไม่ดูแลตัวเอง บางคนอาจใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น หลายคนจะใช้วิธีระบายความเครียดด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยานอนหลับ หรือใช้สารเสพติด ซึ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลงในระยะยาว
เมื่อความเครียดกระทบกับเรามากมาย เราต้องจัดการให้ได้ด้วย 7 วิธีการดังต่อไปนี้
1. ปรับเปลี่ยนความคิด 2. ปล่อยวางในเรื่องที่ต้องเจอ ให้ว่าเรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ จากนั้นให้กลับมามีสมาธิอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าก่อน 3. ดูแลรักษาสุขภาพ 4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ทำให้ช่วยบรรเทาอาการเครียดสะสมได้ 5. หลีกเลี่ยงสารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ หรือสารเสพติดอื่นๆ เช่น ยาบ้า กัญชา พราะการเสพสิ่งเสพติดในขณะที่เกิดความเครียด อาจจะช่วยบรรเทาได้ช่วงขณะหนึ่ง แต่ส่งผลเสียต่อร่างกาย 6. นอนหลับให้เพียงพอเหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ ช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์แจ่มใสขึ้น 7. รับประทานอาหารมีประโยชน์ นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมให้สภาพจิตใจดีขึ้นด้วย
สำหรับวัยทำงานที่อาจเครียดจากงาน จากภาระงานมาก ทำงานไม่ทัน งานไม่ตรงความสามารถ หรืองานกับเวลาไม่เหมาะสม มีสิ่งแวดล้อมการทำงานไม่ดี เช่น เสียงดัง กลิ่น รวมถึงขาดความเข้าใจกันระหว่างเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง นอกจากนี้ ความเครียดอาจมาจากไม่สามารถแบ่งเวลาได้ งาน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และความ คาดหวังต่อตนเอง และผู้อื่น บางครั้งเราก็ใจร้อนต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วเกินไป นอกจากเครียดเรื่องงานแล้วก็อาจมีความเครียดในชีวิตด้านอื่นๆ มาผสมปนเป เช่น พ่อแม่ แฟน ลูก ญาติพี่น้อง หรือสุขภาพของเราเอง
แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ วัยทำงานลองปรับเปลี่ยนด้วยวิธีดังนี้
- รู้จักรับและปฏิเสธงาน แบ่งงานกันทำ
- น้อมรับความผิดพลาด และแก้ไข พัฒนาทักษะความสามารถตนเอง
- แบ่งเวลาสำหรับงาน การพักผ่อน และกิจกรรมกับผู้อื่นทั้งในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน
- สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ มากกว่าตำหนิตัวบุคคล
- รู้จัก เข้าใจผู้ร่วมงานระดับต่างๆ ยอมรับข้อจำกัดและหาจุดพัฒนาร่วมกัน
- รู้จัก เท่าทันตนเองทั้งความคาดหวัง และอารมณ์ ความคิดต่อสิ่งต่างๆ และปรับทัศนคติเชิงบวก
- ภูมิใจในผลงานทั้งของตนเองและผู้อื่น ให้ความสำคัญกับความพยายาม
ใครที่เป็นชาวโซเชียล..อย่าลืม! ติดตามข่าวสารอย่างมีภูมิคุ้มกัน ไม่รับปัญหาของคนอื่นเข้ามาตัวโดยไม่รู้ตัว โดยไม่คลุกกับการเสพข่าวมากเกินไป ลองกำหนดให้มี “วันพักมือถือ” สักวันใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ติดเบรกเป็น ไม่ไหลไปกับกระแสข่าว ส่วนวัยเด็กเยาวชนซึ่งมีภูมิต้านทานการรับข้อมูลข่าวสารน้อย ก็ต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแล และจัดสรรเวลาให้กับเด็กไม่ให้อยู่กับมือถือมากเกินไป
อ้างอิงข้อมูลจาก : อ.นพ.จาตุรงค์ ศิริเฑียรทอง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ และ ผศ.นพ. คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล