เวลาที่เราต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม สุดแสนจะทรมาน ตั้งแต่เรื่องเล็กแต่ไม่เล็กอย่างเวลาต้องเจาะเลือดบ่อยๆ แล้วพยาบาลหาเส้นเลือดไม่เจอ หรือเวลาที่เราต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปวิเคราะห์ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ หลายกรณีต้องเข้าห้องผ่าตัดเล็ก หรือเมื่อต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องฉายแสงมะเร็ง และการคีโมบำบัด ซึ่งทำลายเซลล์ดีไปด้วย และมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยไม่มากก็น้อย เช่น ภูมิต้านทานต่ำ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ จึงถูกคิดค้นมาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย “แม่นยำ ฟื้นไว ไร้แผล” เป็นสโลแกนของรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology : IR) ของโรงพยาบาลศิริราช รังสีร่วมรักษา หรือ IR ไม่ใช่การฉายรังสี แต่เป็นศาสตร์ทางการแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยา เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคต่างๆ ไม่เฉพาะแต่มะเร็งเท่านั้น
“IR” เป็นการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะที่มีขนาดเล็กใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย โดยใช้ภาพทางรังสีวินิจฉัยนำทาง เช่น เอกซเรย์ (X-ray) คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography : CT) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ช่วยกำหนดทิศทางในการนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปถึงรอยโรค โดยแบ่งหัตถการเป็น 2 ประเภท คือ ไม่ผ่านหลอดเลือด และผ่านหลอดเลือด “IR” จึงเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าเปิดแผลผ่าตัด ขณะที่แผลจากการรักษาของ IR ก็มีขนาดเล็กทำให้ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย ภาวะแทรกซ้อนต่ำ บางกรณีทำแล้วกลับบ้านได้เลยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สำคัญคือ ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่า “IR” หรือ การรักษาด้วยวิธีทางรังสีร่วมรักษา จะให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยและประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้จักศาสตร์ทางการแพทย์สาขานี้ไม่มากนัก เนื่องจากโรงพยาบาลที่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมีเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ หรือสถาบันการแพทย์ระดับตติยภูมิเท่านั้น อีกทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสีร่วมรักษามีจำนวนไม่มาก ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ผศ.นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ แพทย์ประจำศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ให้ข้อมูลกับเราว่า ศิริราชเห็นความสำคัญของรังสีร่วมรักษา หรือ IR จึงมีการจัดตั้งหน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ก่อนที่จะตั้ง “ศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช” (Siriraj center of interventional radiology)ในปี พ.ศ. 2560 เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการรักษาในระดับนานาชาติ เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปทั้งผู้ป่วยนัดหมายและผู้ป่วยฉุกเฉินโดยตรง

IR เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดแต่ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กสอดใส่เข้าไปยังรอยโรคและทำการรักษาเฉพาะจุดโดยตรง แบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบประสาทและไขสันหลัง (Interventional Neuroradiology) และ 2. ระบบลำตัว (Body Interventional Radiology) โดยรักษาผ่านทางหลอดเลือด (Vascular Intervention) เช่น การอุดหลอดเลือด การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือตัวถ่างหลอดเลือด การให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง เป็นต้น และการให้การรักษาด้วยการสอดเข็มหรือเครื่องมือผ่านเข้าทางผิวหนังโดยตรง (Non-vascular Intervention) เช่น การตัดตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางผิวหนัง การจี้ก้อนเนื้องอก การใส่สายระบายหนองหรือสารคัดหลั่ง เป็นต้น

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานมากขึ้น เช่น การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อนให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับ ซึ่งสามารถทำได้ซ้ำหากพบในตำแหน่งอื่นๆ เหมาะกับก้อนเนื้องอกขนาดน้อยกว่า 5 ซม หรือล่าสุดมี “การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความเย็น” (Cryoablation) ในผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก เหมาะสมมากโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวเยอะ เหนื่อยง่าย หรือกลัวการผ่าตัด ซึ่งได้ผลการรักษาดีไม่แตกต่างจากการผ่าตัด โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะรักษา โดยใช้เข็มความเย็น เรียกว่า Cryoprobe แทงไปยังบริเวณก้อนเนื้องอกในปอด จากนั้นความเย็นจะแผ่จากปลายเข็ม ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ มีอุณหภูมิลดลง -20 องศาเซลเซียส ถึง -40 องศาเซลเซียส ทำให้เนื้องอกตายจากความเย็น โดยเกิดกระบวนการ Apoptosis หลังทำหัตถการเสร็จ แพทย์จะนำเข็มออก เหลือเพียงรอยแผลขนาดเท่ารูเข็ม 1-3 รู บริเวณหน้าอกผู้ป่วย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ใน 1-2 วันหลังการรักษา
การจี้ก้อนเนื้องอกเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งเฉพาะจุดได้อย่างแม่นยำผ่านภาพทางรังสีวินิจฉัยไม่ไปกระทบกระเทือนกับเซลล์ปกติอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งหากผู้เข้ารับการรักษามะเร็งระยะ 1 หรือ 2 จะได้ผลดีมาก หรือแบบการใส่อุปกรณ์เข้าไปในร่างกายเพื่อดูดลิ่มเลือดออก ช่วยลดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการใส่อุปกรณ์เข้าไปเพื่อถ่างหลอดเลือด ลดภาวะหลอดเลือดตีบในภาวะฉุกเฉินได้อย่างดี
เมื่อเป็นการรักษาที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย จึงเห็นความสำคัญในการเพิ่มบุคลากรในด้านนี้ให้มากขึ้น ศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราชยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางรังสีร่วมรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
ในฐานะอุปนายกสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย ผศ.นพ.สมราช บอกว่า ปัจจุบันมี แพทย์ IR ทั้งประเทศแค่ 150 คน กระจุกตัวในโรงพยาบาลหลักๆ ได้แก่ ศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี พระมงกุฎ มหาราชนครเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้ก็ช่วยกันผลิตบุคลากรเพิ่มเติมได้รวมๆ กันเพียง 15 คนต่อปี ซึ่งการที่มีแพทย์ IR น้อย กระจุกตัวในโรงพยาบาลไม่กี่แห่ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา

“ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่มีศูนย์รังสีร่วมรักษาไม่กี่แห่งกระจุกตัวในโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ ต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลที่มีศูนย์ฯทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน และต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัดเพื่อมารับการรักษา เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย เฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราชมี 5,000 หัตถการต่อปี”
ดังนั้นจึงต้องการให้ระดับนโยบายเห็นความสำคัญ เพราะวิธีการรักษาทางรังสีร่วมรักษาช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว เพิ่มคุณภาพชีวิต และเมื่อใช้เวลารักษาได้เร็วก็ไม่เป็นภาระผู้ป่วย เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิต ประกอบอาชีพได้ตามปกติเร็วขึ้น
โดยเห็นว่ารัฐควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดศูนย์รังสีร่วมรักษาให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เขตสุขภาพ 1 ศูนย์ และแต่ละโรงพยาบาลก็เพิ่มศักยภาพจัดซื้อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสำหรับงาน IR ที่ทันสมัย ซึ่งในอุปกรณ์เดียวกันลงทุนครั้งเดียวแต่สามารถรักษาได้หลายโรค ตั้งแต่มะเร็ง โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลก็ช่วยกันผลิตบุคลากรเฉพาะด้าน IR เพิ่มเติม
นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนแพทย์รังสีร่วมรักษา เพื่อย่นเวลาการผลิตบุคลากร จากปัจจุบันต้องใช้เวลาเรียนนานรวมกัน 11 ปีจากนักศึกษาแพทย์ 6 ปี ต่อด้วยรังสีแพทย์ 3 ปี และเรียนด้านรังสีร่วมรักษาอีก 2 ปี หากรวมกับต้องเป็นแพทย์ใช้ทุนอีก 3 ปีกว่าที่จะเป็นแพทย์รังสีร่วมรักษาได้ต้องใช้เวลารวมกัน 14 ปี หากรวบการเรียนมาเป็นรังสีร่วมรักษาโดยตรงไม่ต้องผ่านรังสีแพทย์ก็จะย่นระยะเวลาการเรียนได้อีกทางหนึ่ง
ทางด้าน ผศ.นพ.สาธิต โรจน์วัชราภิบาล แพทย์ประจำศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช เสริมว่า ปัจจุบันแพทย์รังสีร่วมรักษาเป็นที่สนใจของแพทย์และนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ เพราะเกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้การรักษามีคุณภาพมากขึ้น และช่วยรักษาโรคที่คนไทยเป็นกันมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะโรคในผู้สูงอายุ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่ง IR จะทำการรักษาโดยวิธีอุดหลอดเลือดเฉพาะที่ข้อเข่า (Genicular artery embolization :GAE) ซึ่งเป็นวิธีใหม่ในการรักษาคนไข้ที่มีอาการปวด ที่กินยา หรือกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ทุเลา โดยคนไข้ไม่ต้องผ่าตัด ทำให้หายจากอาการปวด สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ โดย IR จะไปช่วยอุดหลอดเลือดเฉพาะที่ข้อเข่า ทำให้หลอดเลือดผิดปกติรอบๆ ข้อเข่าที่มีการเสื่อม และเป็นสาเหตุของอาการปวดหายไป ลดการอักเสบ ลดอาการปวดสามารถเห็นผลเร็วทันทีหลังการรักษา และความเสี่ยงต่ำ โดยมีแผลจากการรักษาขนาดเท่ารูเข็ม เพียง 1 มิลลิเมตร ซึ่งวิธีนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสื่อมของเข่าในระยะเริ่มต้นถึงระยะกลาง


หรือ IR มาช่วยรักษาด้วยวิธีอุดหลอดเลือด (Prostate artery embolization : PAE) ในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่เป็นใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กไปยังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมลูกหมาก และฉีดยาเพื่อลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมลูกหมาก ทำให้ต่อมลูกหมากค่อยๆ ฝ่อเล็กลงไปในที่สุด ผู้ป่วยจึงไม่มีแผลขนาดใหญ่ ไม่ปวดแผล มีความเสี่ยงต่ำ ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ หลังการรักษา ต่อมลูกหมากจะค่อยๆ ลดขนาดลงใน 3 ถึง 6 เดือน และฝ่อลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาการปัสสาวะขัดดีขึ้น ปัสสาวะพุ่งแรงขึ้น ลดความถี่ที่ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ลดอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้
ทางด้านมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา หรือ IR นพ.วรภัทร ไมตรีวงษ์ แพทย์ประจำประจำศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช แพทย์รุ่นใหม่ บอกว่า คนยังไม่รู้จักรังสีร่วมรักษาเท่าที่ควร ทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการรักษาตามไปด้วย หากเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่านี้ เชื่อว่าคนไข้ก็จะตัดสินใจรักษามากขึ้นด้วย IR อย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องเจ็บตัวมากเหมือนการผ่าตัด ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
ด้าน นศพ.ชินกฤต ชาญพานิชกิจการ นักศึกษาแพทย์ปี 5 ศิริราช บอกว่า มันเป็นการรักษาแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษา ทำให้คนไข้มีแผลเล็ก พักฟื้นไม่นานก็หาย เมื่อเป็นแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีด้วย หมอ IR จึงเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่มากขึ้น