ระวัง! ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไตอักเสบ และปัจจัยทางพันธุกรรม มองข้ามไม่ได้ คือ พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ การใช้สมุนไพรไม่ถูกวิธี และการสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคไตมากถึง 850 ล้านคน ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปีมากถึง 1.12 ล้านคน พบเป็นผู้ป่วยโรคไต ระยะที่ 3 ถึง 5 แสนคน ระยะที่ 4 กว่า 120,000 คน และระยะที่ 5 มากถึง 75,000 คน และข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2565 พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องถึง 24,439 คน และวิธีการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมถึง 86,325 คน จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี จึงเน้นย้ำให้ประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ
นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไตเรื้อรังเป็นสภาวะที่ไตถูกทำลายนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรกทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวาย ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอความเสื่อมของไต และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรังไม่เพียงแต่โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไตอักเสบ และปัจจัยทางพันธุกรรม รวมถึงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ การใช้สมุนไพรไม่ถูกวิธี และการสูบบุหรี่ ก็เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
ด้าน นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ เน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปีได้ที่สถานพยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขที่ท่านเข้ารับการรักษาเป็นประจำ
สำหรับผู้สูงอายุและประชาชนให้สังเกตสัญญาณเตือนโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ ปัสสาวะผิดปกติ มีฟองมาก สีเข้ม ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด มีอาการบวมตามร่างกาย เช่น เท้า ข้อเท้า หรือใบหน้า ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะไตวายเรื้อรังและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422