back to top

ปักหมุดช่วยเหลือ 200 โรงเรียนเร่งด่วน เสี่ยงเด็กหลุดระบบการศึกษา

กสศ.ปักหมุดจุดช่วยเหลือ 200 โรงเรียนเร่งด่วน ระดมองค์กรธุรกิจมอบคอมพิวเตอร์สื่อการเรียนการสอน ปิดช่องว่างทางการศึกษา เพิ่มทักษะทางดิจิทัล และสร้างอนาคตให้เด็กไทย

ปัจจุบันมีเด็กไทย 1 ใน 5 กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือมีเด็กจำนวน 1.02 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ ในปี 2567 มีเด็กไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา จำนวน 982,304 คน เป็น Gen Alpha ที่เติบโตมากับ AI มากถึง 483,791 คน 

ในภาพรวมแล้วพบว่า มี 39% ของประชากรไทยจบมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเพียง 17% ที่ได้รับวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันโลกดิจิทัลก็บีบรัดเข้ามา ทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดอย่างมีศักยภาพของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านเทคโนโลยี (Technological Proficiency) ทั้ง AI, Big Data, Cybersecurity และความเข้าใจเทคโนโลยี ดังนั้นการที่เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา ก็ทำให้ไทยเสี่ยงที่จะขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัล ไม่นับรวมถึงทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Human-Centric Skills) ที่ต้องมีด้วย 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พยายามปิดช่องว่างเหล่านี้ เพื่อดึงเด็กที่เสี่ยงหลุดระบบการศึกษาได้มีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในถิ่นทุรกันดาร ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เล่าสถานการณ์ว่าสำรวจพบว่ามีโรงเรียนเล็กในชนบทห่างไกล1,155 โรงเรียนที่ขาดโอกาส และต้องให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนราว 200 แห่ง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ตอนนี้สิ่งที่เขาเผชิญหน้า คือ การขาดแคลนอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน ไม่มีทีวี หรือคอมพิวเตอร์ 100% ถึง 1,521 คน ต้องอาศัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากมือถือเท่านั้น และยังมี 14 คนที่ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมไปถึงขาดแคลนครูในโรงเรียน เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้มีแนวโน้มที่นักเรียนจะได้คะแนน PISA (Programme for International Student Assessment) หรือ การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลต่ำ

“กสศ.สำรวจในช่วงโควิด -19 พบว่า เด็กเยาวชนยากจนในชนบท ใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่  ไม่มีแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์  ช่องว่างนี้เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปห่างกันถึง  10 เท่า โอกาสเดียวที่เด็กเหล่านี้จะได้ใช้ทรัพยากรเพื่อเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ คือ ที่โรงเรียน”  

ดังนั้นโรงเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานและเสมอภาค ซึ่งกสศ.ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชนทำโครงการต่างๆสามารถช่วยเหลือเด็ก 1.2 ล้านคนต่อปี ไม่ทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษา และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือเป็นการระดมทรัพยากร อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และมอบทุนการศึกษาให้กับเด็ก รวมถึงจัดทำโครงการครูรักถิ่นเพื่อสร้างบุคลากรกลับไปสอนในชนบท เป็นต้น โดยคาดหวังว่าภายใน 3-5 ปีหากเด็กสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์สื่อการเรียนการสอนจะลดช่องว่างการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะทางดิจิทัลให้กับเด็กได้ 

“การลงทุนกับเด็กๆ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด องค์กรภาคธุรกิจต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กไทยที่ขาดโอกาสได้ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา สร้างอนาคตให้กับเด็กไทย”  

โดยล่าสุดกสศ.ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทยดำเนิน “โครงการ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชวนทำความดีเพื่อสังคม” โดยมี “โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” เป็นหนึ่งในการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันบริจาคคอมพิวเตอร์ เป้าหมาย 5,000 เครื่อง ภายใน 5 ปี 

“โครงการนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณอย่างเสมอภาคจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แก่โรงเรียนเล็ก ห่างไกล ทุรกันดาร ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ กสศ.ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง”  

ทั้งนี้ภาคตลาดทุนและภาคธุรกิจที่สนใจร่วม “โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” สามารถสนับสนุนได้ผ่าน 3 รูปแบบ คือ 1) บริจาคคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานแล้วและยังมีคุณภาพดี 2) บริจาคคอมพิวเตอร์ใหม่ (มือ 1) หรือ 3) สนับสนุนองค์ความรู้ตามความเชี่ยวชาญหรือตามศักยภาพของธุรกิจ (In kind Support) ในส่วนของเครือข่ายค่ายมือถือต่างๆก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบ (Device)ได้เช่นกันเพื่อทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนต่างๆสมบูรณ์

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงสื่อดิจิทัลและแหล่งความรู้ออนไลน์เพื่อการพัฒนาตนเอง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคธุรกิจให้มาร่วมกันบริจาคคอมพิวเตอร์ เป้าหมาย 5,000 เครื่อง ภายใน 5 ปี อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯยังจะสนับสนุนข้อมูลความรู้ด้านการเงินติดตั้งในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่จะส่งมอบให้แก่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การออมการลงทุน ปลูกฝังความรู้ด้านการเงินให้แก่นักเรียน ครู และผู้ปกครอง 

นายอัสสเดช คงสิริ

ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคตลาดทุนได้เข้าร่วมสนับสนุน “โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อเด็กไทย ใส่ใจเรื่องการเงิน” เนื่องด้วยประเทศไทยจะก้าวหน้าและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และเข้าใจในโลกยุคใหม่ ดังนั้นเยาวชนไทยจึงจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะด้านดิจิทัลอย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะที่หลากหลาย เพื่อเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และพัฒนาตลาดทุนไทย รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โครงการนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อสังคม และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรคุณภาพให้กับภาคตลาดทุนและประเทศชาติในอนาคต

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย