back to top

วัณโรค รู้เร็ว รักษาหายได้ ไม่แพร่กระจาย ไม่ตีตรา 

ในวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันวัณโรคโลก (WORLD TUBERCULOSIS DAY)” เพื่อให้เกิดความร่วมมือควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค ในวันวัณโรคสากล ปี2568 กำหนดธีม “Join together and move forwards – Ending TB: 2025” ยกระดับความรู้ ร่วมต่อสู้วัณโรค”

ข้อมูลจาก ‘องค์การอนามัยโลก’ ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทยมีอัตราอุบัติการณ์ของประเทศยังคงสูงอยู่ถึง 157 ต่อแสนประชากร โดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าลดอัตราการตายจากวัณโรคลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ 90% ภายในปี 2578 และก้าวไปสู่เป้าหมาย “เมืองไทยปลอดวัณโรค” ในอนาคต

ทำไมวัณโรคจึงยังไม่หมดไปจากประเทศไทย สาเหตุมาจากผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และไม่ได้รับการคัดกรอง อีกสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาวัณโรคในภาพรวมยังไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ว่ามาจากทัศนคติการตีตราและเลือกปฏิบัติด้านวัณโรคในสังคม ส่งผลต่อความคิดของบุคคล ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยวัณโรค เนื่องจากหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค ผู้ป่วยเกรงว่าจะถูกเลือกปฏิบัติหรือแสดงความรังเกียจจากสังคม คนในครอบครัว และอาจจะได้รับการเลือกปฏิบัติขณะรับบริการสุขภาพ ในสถานบริการสุขภาพ การถูกปฏิเสธเข้ารับการทำงาน รวมไปถึงการไม่รับเข้าทำงาน หรือถูกเลิกจ้างงาน เป็นต้น

 วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ โดยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากทำให้เกิดละอองฝอย ผู้อยู่ใกล้สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้ โดยวัณโรคพบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบมากคือวัณโรคปอด

สำหรับอาการสำคัญของวัณโรคปอด คือ ไอแห้งๆ ติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำๆ การตรวจวินิจฉัยโรคทำได้โดยการเอ็กซเรย์ปอด และตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค

การป้องกันโรคสามารถทำได้โดย เด็กแรกเกิดควรได้รับการฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนแรกเกิด) ส่วนประชาชนทั่วไปควรดูแลสุขภาพออกกำลังกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตรวจการทำงานของปอด เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด บุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรค และหากมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์

วัณโรครักษาหายได้ มียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลารักษา 6-8 เดือน ต้องกินยาครบทุกเม็ด ทุกมื้อ ไม่หยุดยาเอง หากรักษาไม่ต่อเนื่อง หยุดยาเอง อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ต้องใช้เวลาในการรักษานาน 9-18 เดือน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้กลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” เพื่อเร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้เข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดตลอดจนดูแลรักษาให้หายจากวัณโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรค 

อย่างไรก็ตามการลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ลงจะทำได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติวัณโรคเพื่อให้เมืองไทยปลอดวัณโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค