เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ได้เกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว ขนาดประมาณ 7.5 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 366 กิโลเมตร ซึ่งแรงสั่นสะเทือนส่งผลถึงประเทศไทยภาคเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุด มีผลกระทบกับอาคารต่างๆ ในพื้นที่หลายเขต และมีผู้เสียชีวิตจากอาคารถล่ม
ด้วยความที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร และอีกหลายๆ จังหวัดของไทยไม่เคยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเลย หน่วยงานหรือองค์กรไม่เคยซ้อมแผ่นดินไหว ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงตั้งหลักกันไม่ถูก ต้องทำอะไรก่อนและหลังอย่างไร
แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายคนตระหนักแล้วว่า อาจเป็นผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวได้ทุกเมื่อดังนั้นถึงเวลาต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการบรรจุในการเรียนการสอน และหน่วยงานองค์กรทำการซักซ้อมแผนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการประชาสัมพันธ์ และการแจ้งเตือนภัยที่แม่นยำ
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกข้อแนะนำเมื่อประชาชนทั่วไปอาจเป็นผู้ประสบภัยในอนาคต โดยให้ตั้งสติให้ดีก่อน และทำตามขั้นตอนต่อไปนี้:
หากอยู่ในอาคาร (บ้าน, คอนโด, ห้าง ฯลฯ)
1. หลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง หรือเฟอร์นิเจอร์ที่พอจะกันของตกใส่ได้
2. ป้องกันศีรษะ ด้วยแขน กระเป๋า หมอน หรือสิ่งของใกล้ตัว
3. อยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง ตู้หนังสือ หรือของแขวน ที่อาจร่วงลงมา
4. อย่าวิ่งออกนอกอาคาร ขณะอาคารยังสั่น เพราะอาจถูกเศษกระจกหรือปูนตกใส่
5. หลังแผ่นดินไหวสงบแล้ว ค่อย อพยพออกจากอาคาร อย่างระมัดระวัง
หากอยู่กลางแจ้ง
1. อยู่ให้ห่างจากอาคาร เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ และสะพาน
2. หาที่โล่ง ๆ และ หมอบลงกับพื้น จนกว่าจะหยุดสั่น
หากอยู่ในรถ
1. หยุดรถทันทีที่ปลอดภัย และจอดชิดข้างทาง
2. อยู่ในรถ จนกว่าการสั่นจะหยุด
3. อย่าจอดใต้สะพานลอย สะพานลอยฟ้า หรือสายไฟ
หลังแผ่นดินไหว
• ระวัง อาฟเตอร์ช็อก (แรงสั่นสะเทือนที่ตามมา)
• ตรวจสอบ ก๊าซ ไฟฟ้า และน้ำประปา ว่ามีรั่วไหม
• ฟังข่าวจากทางการเพื่อรับคำแนะนำต่อไป
• หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิ ให้อพยพขึ้นที่สูงทันที
