back to top

อกตัญญูจริงหรือ? ถ้าพาพ่อแม่ไปอยู่ศูนย์ดูแล เมื่อปลายทางของความรัก อาจไม่ใช่ที่บ้าน… แต่อยู่ที่ความเข้าใจ

การพาพ่อแม่ที่เจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองลำบากไปฝากไว้ที่ศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุ “อกตัญญู” ไหม? เป็นคำถามที่หลายคนเฝ้าคิดทบทวนอยู่หลายครั้งหลายครา จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดูแลเองไหม ถ้าดูแลตัวเองจะทำมาหากินอย่างไร และถ้าดูแลเองต้องดูแลแบบไหน หรือจะฝากพ่อแม่ไว้กับญาติ คนรู้จัก หรือจ้างคนแปลกหน้ามาดูแล

‘พี่ชื่น’ ภญ. ภัคธีมา ปัญญวรญาณ และ พี่นพสิทธิ์ โชติปรีชาธนรัตน์ สามีภรรยา ซึ่งตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Proud Nursing Home ย่านปากเกร็ด นนทบุรี เมื่อ 3 ปีก่อน เขาสองคนเคยมีคำถามเช่นนี้เช่นกัน แต่ด้วยครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ 2 คน คุณยายของพี่ชื่น กับคุณแม่ของพี่นพที่ป่วยติดเตียงหลังประสบอุบัติเหตุตกบันได

พี่นพ เล่าว่า หลังคุณแม่ป่วยมา 1 ปี ในระยะท้ายรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 เดือน ทางโรงพยาบาลให้รับไปดูแลเอง แต่คุณแม่ป่วยติดเตียง ไม่ตอบสนอง ต้องให้ออกซิเจน ให้อาหารทางสายยาง ต้องดูดเสมหะ เราก็คิดว่าหากต้องดูแลเองทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งที่เรามีความคิดลบกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ แต่ก็จบลงที่พาแม่มาดูแลที่ศูนย์ฯ หลังคุยกับพี่น้อง เพราะเราทำหัตถการไม่เป็น ส่วนคุณยายตอนนั้นเรากำลังหาศูนย์ฯ ดูแลในเวลาเดียวกัน 

นพสิทธิ์ โชติปรีชาธนรัตน์ / ภญ. ภัคธีมา ปัญญวรญาณ

ในช่วงเวลาที่คุณแม่อยู่ศูนย์ฯ เราก็เข้าออกไปเยี่ยมคุณแม่บ่อยๆ เห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ทำให้คิดว่าถ้าเราทำศูนย์ฯ เองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เราจะพร้อมกว่านี้ อีกอย่างพี่ชื่นเองก็ร่ำเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมา ส่วนพี่เองก็ร่ำเรียนทางด้านสังคมวิทยา และต่างสนใจการบำบัดจิตใต้สำนึก (Hypnotherapy) ถึงกับร่ำเรียนอย่างจริงจังมาก่อนแล้ว น่าจะใช้ความรู้และทักษะที่มีทำศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ เราจึงออกแบบให้มีสิ่งที่เราอยากจะให้เป็นที่นี่

ศูนย์ฯ Proud Nursing Home เป็นไอเดียเกิดขึ้นและตั้งใจจะทำให้สำเร็จ อย่างน้อยก็จะได้ดูแลคุณแม่และคุณยาย โดยเช่าที่ดินเล็กๆ ใกล้บ้านทำศูนย์ฯ แห่งนี้ “ตั้งใจว่าจะดูแลคุณแม่และผู้สูงอายุคนอื่นๆ ไปด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างที่เราอยากให้เป็น” มีกิจกรรมตอนเช้าที่สนาม เพื่อให้เขาได้ออกกำลังบ้าง มีเกมส์เล่น มีห้องคาราโอเกะที่กำลังจะทำ ผู้สูงวัยที่ไม่ต้องให้อาหารทางสายยางจะไม่ทานอาหารที่เตียง แต่จะมีห้องอาหารรวมให้เขาได้ยืดขยับ แม้ในวันที่ศูนย์ฯ Proud Nursing Home เป็นรูปเป็นร่าง คุณแม่จะไม่ได้เข้ามาอยู่ ท่านเสียไปตอนอายุ 85 ปีก่อนเปิดศูนย์ฯ ได้ไม่นาน แต่ทุกอย่างถูกเซตอย่างที่ตั้งใจแต่แรก และคุณยายก็มาอยู่ที่นี่ได้ 4 เดือนก่อนที่ท่านจะจากไปในวัย 99 ปี

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินการมา พี่นพและพี่ชื่นนำเรื่องจิตบำบัดที่เขามีทักษะมาช่วยดูแลจิตใจผู้สูงอายุด้วย พี่นพ ย้ำว่า ผู้สูงอายุต้องดูแลที่ใจเป็นสำคัญ เพราะเขาเป็นประมุขของบ้าน แต่กลับอยู่รั้งท้ายของบ้าน  มีความสำคัญน้อยลง ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจใดๆ อีกต่อไป และเขาก็ถูกลิดรอนสิทธิ์ด้านร่างกาย ต้องพึ่งพิงคนอื่น เขามีความเครียดเป็นทุนจากการตัดสินชะตาชีวิตโดยคนอื่น มีความน้อยใจ ต้องการให้ลูกหลานสนใจบ้าง ทั้งมีความกลัวและกังวลต่อโรคภัยไข้เจ็บ 

ดังนั้นผู้สูงวัยจึงมักมีความน้อยใจ เพราะมักจะไม่ได้รับการตอบสนองทันที ประชดประชัน เพื่อดึงความสนใจของลูกหลาน บางครั้งลูกหลานซื้ออะไรมาให้กินก็ไม่อร่อย เป็นต้น หรือบางคนเรียกหายากินตลอดเวลา เพราะเขากลัวความเจ็บป่วย บางครอบครัวมีความขัดแย้งที่เกิดจากการกระทบกระทั่งระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลานที่ดูแลใกล้ชิด และลูกหลานที่อยู่ไกลนานๆ มาเยี่ยมครั้ง เป็นเพราะคนนานๆ มาหา มักจะตามใจเขานั่นเอง ทำให้ผู้สูงอายุพอใจทำให้คนใกล้ชิดอาจน้อยใจ และขยายความไม่พอใจกลายเป็นความขัดแย้ง หรือบางท่านเป็นสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ สมองถูกทำลาย ตรรกะเขาเสียหาย แต่ลูกหลานไม่รู้ เขาอาจพูดหรือทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลในสายตาลูกหลานก็กระทบกระทั่งกันในครอบครัว 

แต่หากเราเข้าใจ โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมจะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เหตุผลกับเขา เมื่อต้องอยู่ด้วยกันเราต้องล้อไปกับเขาเป็นพวกเดียวกับเขา เอาใจของเราเข้าไปใส่ในใจของเขา แล้วเบี่ยงเบนให้เขาสนใจเรื่องอื่น เรียกว่า “เปลี่ยนภาพ” ไม่นานเขาก็ลืม แล้วก็อาจกลับมาพูดใหม่ในเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา แต่ขอให้คิดเสมอว่าสิ่งที่เขาถามเรา “เป็นคำถามแรกเสมอ”

พี่ชื่น บอกว่าเราเติมเต็มกันและกันนะ ต่างได้เรียนรู้กัน ระหว่างเรา ญาติ และผู้สูงอายุซึ่งเราจะสังเกตพฤติกรรมของเขา และสื่อสารกับญาติค่อนข้างมาก เพื่อปรับทัศนคติ และความคิดให้เขาอยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุขมากขึ้น บางท่านมาอยู่กับเราได้ระยะหนึ่ง และพบภายหลังว่าเป็นอัลไซเมอร์โดยที่ลูกก็ไม่รู้ เมื่อเราได้สื่อสาร และแนะนำไปได้พบแพทย์ก็ทำให้ลูกเข้าใจแม่มากขึ้น มีการปรับความคิดใหม่ และอยู่กับแม่ได้อย่างมีความสุข จากเดิมที่ยึดเหตุผลอย่างเดียวแล้วก็นำมาซึ่งความไม่พอใจ หรือบางครอบครัวมีลูกหลายคนก็จริง แต่ลูกคนอื่นที่นานๆ มาหา บางคนแค่เอาของมาให้ไม่ได้ลงจากรถด้วยซ้ำไป พอมาอยู่ศูนย์ฯ กลับพบว่าลูกๆ ทั้งหมดผลัดกันมาหาแม่ทุกวัน และใช้เวลากับแม่นานกว่าตอนแม่อยู่ที่บ้าน

“ความคิดของคนทั่วไปคือ บ้านเป็นที่ปลอดภัย แม่เป็นเบาหวานก็เป็นเรื่องปกติ แต่พอแม่มาอยู่ศูนย์ฯ การเป็นเบาหวานของแม่มันใหญ่มากขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น หรือตอนอยู่บ้านการคุยโทรศัพท์กับคนอื่นสำคัญกว่า แม่มาทีหลัง พอมาอยู่ศูนย์ฯ แม่มาก่อน และใช้เวลากับแม่อย่างเต็มที่ บางคนเพิ่งรู้ว่าทิ้งแม่ทางใจมานาน เพราะเราบอกว่าแม่ของเขามักบอกว่าเขาอยู่คนเดียวมาตลอด ทั้งที่มีลูกอยู่ด้วย นั่นเป็นเพราะเวลาที่ลูกให้กับพ่อแม่ไม่เคยมี เช้าก็ออกไปทำงานกลับบ้านมืดค่ำ กลางวันไม่เคยโทรหาแม่ เป็นต้น” พี่นพ ขยายความ

“เวลาที่ลูกกลับมาจากที่ทำงาน หรือมาหาพ่อแม่จะถามคำแรกว่า กินข้าวหรือยังเสมอ แต่สำหรับลูกหลายคนไม่เคยถามคำถามนี้กับพ่อแม่ ไม่เคยมีเวลาสำหรับพ่อแม่ แต่มีเวลากับการสังสรรค์เพื่อนฝูง อาหารหรือข้าวของหรูหราที่ซื้อมาฝากพ่อแม่เทียบไม่ได้กับข้าวไข่เจียวที่พ่อแม่กับลูกได้กินด้วยกันพร้อมหน้า เพราะมันคือความอบอุ่นที่เขาได้รับ เขาเหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ รดน้ำ เขาถึงจะชุ่มชื้น ไม่ใช่ให้น้ำโครมเดียวจบ

พี่นพ ซึ่งคลุกคลีกับผู้สูงอายุมาหลายคน เขาเคยต้องตอบคำถามซ้ำ 20 ครั้งภายในวันเดียว แต่ความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้อยู่กับผู้สูงอายุได้ เราอย่าพยายามใช้เหตุผลของเราตัดสินเขา แต่ใช้ใจในการทำความเข้าใจ ผู้สูงอายุในวันโรยราเป็นวัยที่ต้องการพักผ่อน เขาอาจไม่อยากทำอะไรบางอย่าง เช่น ไม่อยากทำกายภาพบำบัด หรือไม่อยากออกกำลังมากมาย แต่อาจจะอยากนอน ก็ต้องปล่อยเขา นั่นหมายความว่า “เรากำลังดึงเขากลับขึ้นไปยอดพีระมิดเหมือนเดิม ไม่ใช่เป็นพีระมิดกลับหัว ที่เราอยู่บนยอดแต่เขากลับอยู่ล่างสุด เขาต่างมีที่มามีประสบการณ์ที่สุดยอดกันมาทั้งนั้น เรากำลังดูแลประมุขของบ้าน ให้เขากำหนดชะตาชีวิตของตัวเองบ้าง” 

สำหรับการดูแลที่ศูนย์ฯ สิ่งที่เราปลูกฝังคนดูแล ก็คือ “เรามีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้สูงอายุ” ดังนั้นจะแยกภารกิจอย่างชัดเจน ผู้ดูแลทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่มีอยู่ 15 คน และมีนักกายภาพอยู่ 5 คน ไม่นับรวมคนที่ทำหน้าที่ซัพพอร์ตงานอื่นๆ ทั่วไป จากผู้สูงอายุที่อยู่กับเราตอนนี้ 41 คน

ศูนย์ฯ Proud Nursing Home ไม่ได้รับผู้สูงอายุมาดูแลทุกคนที่ติดต่อมา โดยจะไม่รับผู้ป่วยจิตเวชที่คุมอาการไม่ได้ เพราะอาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และไม่รับผู้สูงอายุที่ติดเชื้อระยะแพร่กระจาย เช่น วัณโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด เป็นต้น ผู้สูงอายุที่มาใหม่จะถูกจัดให้อยู่ห้องดูอาการก่อน จากนั้นจึงจะนำไปพักร่วมกับคนอื่น โดยปัจจุบันมีทั้งที่มาฟื้นฟูร่างกาย 2-3 เดือนเพื่อทำกายภาพหลังอยู่โรงพยาบาลนาน หรือบางคนก็อยู่เป็นปี 

“อยู่บ้านหรืออยู่ศูนย์ฯ กตัญญูทั้งคู่ ผู้สูงอายุอยู่บ้านดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะเป็นที่ที่เขาคุ้นเคย ไม่ว่าเขาจะรู้เรื่องหรือไม่ก็ตาม แต่บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป มีการแยกครอบครัวออกมา มีความเหินห่าง ลูกหลานทำมาหากิน ไม่พร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ หลายครอบครัวปล่อยผู้สูงอายุอยู่ลำพัง ซึ่งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากสิ่งที่เขาเคยทำเป็นปกติ เพราะร่างกายเขาไม่เหมือนเดิมแล้ว และบางคนก็โรยราจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งการที่ดูแลเองไม่สอดคล้องกับร่างกายของเขาอาจเกิดโทษมากกว่าคุณ ศูนย์ฯ จึงเป็นเครื่องมือเสริมให้ครอบครัวที่มีความจำเป็น ทำให้ผู้สูงอายุปลอดภัยมากขึ้น”