ในยุคนี้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วผ่านโลกโซเชียล แต่สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มักติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ซึ่งในกลุ่มเด็กเยาวชนยังขาดการยับยั้งชั่งใจ รวมถึงการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในกลุ่มวัยรุ่นยังไม่ดีเท่าวัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องยาเสพติดในวัยรุ่นที่เกี่ยวโยงกับการมีเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น ยาไอซ์
รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย ออกมาระบุว่า ช่วงอายุที่พบการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อายุเริ่มน้อยลง ข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาพบกลุ่มผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยอายุ 20 – 49 ปี โดยช่วงอายุของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่พบมากสุด คือ ช่วงอายุ 30 – 34 ปี รองลงมาคือ อายุ 25 – 29 ปี ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นเยาวชน อายุ 15 – 19 ปี พบการติดเชื้อ 8 ราย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ควรเฝ้าระวัง
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อซิฟิลิส ที่คลินิกนิรนามในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 – เดือนเมษายน 2568 พบผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อทั้งหมด 11,323 ครั้ง ให้ผลเป็นบวกจำนวน 940 คน อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 8.3%
โดยกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี พบติดเชื้อ 11 ราย, อายุ 20 – 24 ปี ติดเชื้อ 93 ราย, อายุ 25 – 29 ปี ติดเชื้อ 179 ราย, อายุ 30 – 34 ปี ติดเชื้อ 227 ราย, อายุ 35 – 39 ปี ติดเชื้อ 155 ราย และอายุ 40 – 44 ปี ติดเชื้อ 108 ราย ทั้งนี้พบผู้ป่วยเพิ่มในทุกกลุ่มทั้งคู่รักชายหญิงและกลุ่มคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ และยังพบว่าในผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 โรค เช่นมีการติดเชื้อเอชไอวีและติดเชื้อซิฟิลิสพร้อมกัน เพราะช่องทางการแพร่กระจายโรคเป็นช่องทางเดียวกัน
ทางด้านนพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลวิมุต ให้ข้อมูลว่า “โรคหลักของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอยู่ 3 โรค คือ เอชไอวี ซิฟิลิส และหนองใน ทั้ง 3 กลุ่มนี้สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ในคราวเดียวกัน การเข้าใจโรคเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้คนทุกเพศที่มีความสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและเปลี่ยนคู่นอนหลายคน ล้วนเสี่ยงต่อเอชไอวีทั้งสิ้น แต่ในกลุ่มชายรักชาย จะเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้นจากมิติเชิงชีววิทยา เพราะช่องทวารหนักมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการติดเชื้อมากกว่า ช่องคลอด เนื่องจากเยื่อบุบริเวณนี้ค่อนข้างบาง ไม่มีสารหล่อลื่นตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้ บริเวณทวารหนักยังมีเซลล์ CD4 เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเซลล์ที่เชื้อเอชไอวีมักไปจับและใช้เป็นตัวนำทางเข้าสู่ร่างกาย
สิ่งที่ทำให้เอชไอวีอันตรายคือ หลายคนหลังจากติดเชื้อแล้วอาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น เจ็บคอ มีไข้ ซึ่งจะหายเองได้ ทำให้ไม่เกิดข้อสงสัย ซึ่งผู้ติดเชื้อสามารถอยู่โดยไม่มีอาการเป็นเวลา 5-7 ปี หรือบางคนอาจเร็วกว่านั้น 1-2 ปี จนกระทั่งภูมิคุ้มกันถดถอยลงไปเรื่อยๆ และจะเริ่มมีอาการไม่สบาย เบื่ออาหาร ผอมลง มีผื่นคัน ไข้ขึ้นตอนกลางคืน หรือติดเชื้อแปลกๆ เช่น เป็นงูสวัด วัณโรคในปอด ซึ่งมักเป็นสัญญาณว่าเข้าสู่ระยะเอดส์แล้ว
สำหรับการป้องกันนั้น นพ.ประวัฒน์ อธิบายว่า มีการใส่ถุงยาง และ ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อที่กินก่อนมีความเสี่ยง เหมาะสำหรับคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง มี 2 แบบ คือ Daily PrEP (กินทุกวัน) และ On-Demand PrEP (กินก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-24 ชั่วโมง และหลังจากนั้นอีก 2 วัน) ส่วนยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เป็นยาที่กินหลังมีความเสี่ยงแล้ว ใช้เป็นเวลา 28 วัน ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วย HIV ทิ่ม และคนทั่วไปที่เสี่ยง
อย่างไรก็ตามการกินยา PrEP ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องใส่ถุงยางแล้ว เพราะยาป้องกันเฉพาะเอชไอวี แต่ไม่ป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ที่อันตรายเหมือนกัน ดังนั้นการใช้ถุงยางร่วมกับ PrEP จะให้ประสิทธิภาพการป้องกันเอชไอวีได้ 98-99% แต่หากไม่ใช้ถุงยาง ประสิทธิภาพการป้องกันก็จะลดลง
ทางด้านโรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบ เพราะอาจแฝงอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานโดยไม่มีอาการ โดยอาการของซิฟิลิส จะแตกต่างกันในแต่ละระยะ ระยะแรก มักมีแผลที่อวัยวะเพศที่ไม่เจ็บ ซึ่งจะหายเองได้ ทำให้หลายคนอาจไม่ได้สังเกต ระยะที่ 2 จะมีผื่นขึ้นทั้งตัว มีไข้หรือไม่มีก็ได้ โดยเฉพาะผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของซิฟิลิส ระยะที่ 3 อาจมีอาการเช่น หูได้ยินน้อยลง หูดับ มองไม่ชัด หรือเชื้อขึ้นสมอง ซึ่งอันตรายมาก หากซิฟิลิสที่แฝงอยู่เป็นเวลานานสามารถทำให้เส้นเลือดสมองตีบ เกิดเป็นสมองขาดเลือดขึ้นมาตอนอายุมากขึ้นได้ ขณะเดียวกันซิฟิลิสก็สามารถรักษาหายได้ และสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ หากสวมถุงยางอนามัย
ในส่วนของโรคหนองในนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หนองในแท้และหนองในเทียม ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียคนละชนิดกัน อาการในผู้หญิงมักมีอาการที่ “หลบๆ ซ่อนๆ” มากกว่าผู้ชาย โดยจะมีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดซึ่งมีลักษณะผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีขาวที่ไม่ใช่ตกขาวปกติ อาจมีอาการปัสสาวะแสบ รู้สึกเจ็บผิดปกติเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกตอนยังไม่ถึงรอบเดือน ในผู้ที่เป็นมานานอาจมีการปวดท้องหรือปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม หนองในในผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการเลย ความอันตรายของหนองในในผู้หญิง คือหากปล่อยไว้ไม่รักษา จะลามไปสู่การอักเสบเรื้อรังในช่องท้องน้อย มดลูกติดเชื้อ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ชายมักมีอาการชัดเจนกว่าผู้หญิง ทำให้เข้ารับการรักษาเร็วกว่า โดยจะมีอาการหนองไหลออกมาเมื่อปัสสาวะหรือปัสสาวะแล้วเจ็บแสบมาก บางคนอาจเจ็บอัณฑะ หรืออัณฑะบวมได้ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจมีหนองที่ทวารหนัก และหากมี Oral Sex อาจมีอาการเจ็บคอ กลืนแล้วรู้สึกเจ็บ มีความรู้สึกระคายเคืองในคอ โดยหนองใน จะรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งจำเป็นต้องพาคู่นอนเข้ารับการรักษาด้วยกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ส่วนวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
“การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ Safe Sex ซึ่งต้องตกลงกันทุกฝ่าย บอกคู่นอนเราให้ใส่ถุงยางทุกครั้ง และหากเมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน อย่าปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง การมาพบแพทย์เร็วจะช่วยให้รักษาได้ไวจนหายจากโรคได้ แต่หากปล่อยไว้จนเข้าระยะรุนแรง จะใช้ชีวิตยากขึ้น ทั้งนี้ไม่ต้องกลัวการพบแพทย์ เพราะทุกสถานพยาบาลมีการปกป้องข้อมูลผู้ป่วยอย่างเข้มงวด แนะนำให้พาคู่นอนมาตรวจและรักษาไปด้วยกัน”