back to top

“มะเร็งปอด” ภัยเงียบที่มากับฝุ่น PM2.5 และควันบุหรี่

ในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งตับและ ท่อน้ำดี โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 17,222 คน หรือเฉลี่ยวันละ 48 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 40คน ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอดไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการสูบหรือรับควันบุหรี่มือสองทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้าอย่างที่เราได้ยินมาเท่านั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากมลภาวะทางอากาศต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีปนเปื้อนหลายชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ได้แก่ แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของธาตุเรเดียมซึ่งนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน) รังสี ควันธูป ฝุ่นไม้ เป็นต้น

มะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ 

         1. มะเร็งชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15 %

         2. มะเร็งชนิดเซลล์ไม่ใช่ขนาดเล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 85-90 % 

สำหรับความรุนแรงและอันตรายของมะเร็งปอดนั้นเนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการนำก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือด และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม ความรุนแรงต่อชีวิตจึงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกจะมีโอกาสที่จะรักษาหายสูงมากขึ้น แต่ความน่าวิตกคือ ผู้ป่วยมะเร็งปอดมักจะมาพบแพทย์ เมื่อโรคมีการลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น หรืออาจทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด คือ การสูบหรือรับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมีทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านพันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ได้แก่ แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน (เกิดจากการสลายตัวของธาตุเรเดียมซึ่งนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน) รังสี ควันธูป ฝุ่นไม้ และมลภาวะทางอากาศต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีปนเปื้อนหลายชนิดที่เป็นสารก่อเกิดมะเร็ง

สัญญาณเตือนของมะเร็งปอด คือ อาการผิดปกติของการทำงานของปอด เช่น ไอเรื้อรัง นานกว่า 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด ปอดติดเชื้อบ่อยหรือเรื้อรัง นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการเสียงแหบ เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดเท่านั้นอาจพบในโรคอื่นๆ ได้ 

ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอ็กซเรย์ปอดหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีต่ำ (Low dose CT scan) เป็นประจำทุกปี 

การตรวจวินิจฉัยหลักๆ ประกอบไปด้วยการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์ปอด เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการตรวจชิ้นเนื้อทางพันธุศาสตร์เพิ่มเติม (molecular genetic testing) เพื่อทำนายพยากรณ์ของโรคและแนวทางการรักษาได้มากยิ่งขึ้น 

ในส่วนการรักษาจะมีการพิจารณาจากองค์ประกอบหลายประการ ได้แก่ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสภาวะความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 1. การผ่าตัด การฉายรังสี รวมถึงการฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Body Radiotherapy) 2. การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งและ/หรือการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งอาจต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการรักษา เช่น หากเป็นชนิดเซลล์ขนาดเล็ก การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด 

แต่ถ้าหากเป็นชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็กที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง การรักษาหลักคือการผ่าตัดและตามด้วยยาเคมีบำบัด ในบางกรณีหากโรคเริ่มลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง จำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายชนิดร่วมกัน แต่ถ้าหากโรคลุกลามไปมากแล้ว การรักษาด้วยยาต่างๆ จะเป็นการรักษาหลัก ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น 

มะเร็งปอดถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตสูง อีกทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะแรกค่อนข้างลำบาก ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษามีข้อจำกัด 

ทางที่ดีที่สุดคือ ควรมุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ควรหยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่อาศัยในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายหากต้องปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ 

ข้อมูลโดย : แพทย์หญิงณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข