back to top

“ให้เลือด = ให้ชีวิต” บริจาคเลือด 1 ถุง อาจยืดเวลาให้ชีวิตใครอีกนาน

โลหิต เป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย และจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิต เพื่อนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยมีเกณฑ์กำหนดให้บริจาคโลหิตได้ไม่เกิน 10% ของปริมาณโลหิตในร่างกาย หรือปริมาณ 350-450 ซีซี ซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของผู้บริจาค โดยเมื่อบริจาคโลหิตแล้วไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน

ทั้งนี้ปกติเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน หากไม่ได้บริจาคโลหิตเมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุ จะถูกกำจัดออกไปโดยกลไกของร่างกาย โดยการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ได้มากกว่า 3 ส่วน ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดย 77% ใช้กับผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น และ 23% ใช้กับผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องรักษาด้วยการรับโลหิตต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากสาเหตุอื่นๆ โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด หรือ โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

โลหิต 1 ถุงที่บริจาค จะประกอบด้วย พลาสมา 55% เกล็ดเลือด 1% เม็ดเลือด 44% โลหิตส่วนหนึ่ง เข้าสู่ห้องตรวจเพื่อเช็กกรุ๊ปเลือดพิเศษและตรวจโรค โดยจะมีการตรวจหากรุ๊ปเลือด ตรวจหาเชื้อ HIV ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี

โลหิตอีกส่วนหนึ่ง จะถูกปั่นแยกส่วนแต่ละส่วนจะถูกเอาไปใช้ต่างกัน 

– เกล็ดเลือด รักษา ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว

– เม็ดเลือดแดง รักษา ธาลัสซีเมีย อุบัติเหตุ การผ่าตัด

– พลาสมา รักษา ภาวะช็อกจากการขาดน้ำ แผลไฟไหม้ ใช้ยาและผลิตเซรุ่ม 

ข้อดีของการบริจาคโลหิต

– กระตุ้นการทำงานของไขกระดูกสร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ

– ระบบไหลเวียนโลหิตดี

– สุขภาพร่างกายแข็งแรง

– บริจาคโลหิต 1 ถุง ช่วยชีวิตได้ 3 ชีวิต

– บริจาคทุก 3 เดือน ยิ่งให้ ยิ่งได้สุขภาพดี

สำหรับข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่า มีคนไทยบริจาคโลหิต 1.6 ล้านคน หรือเท่ากับ 2.51% ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีโลหิตสำรอง 3% ของประชากร ในจำนวนที่บริจาคนั้นเป็นกลุ่มที่บริจาคโลหิตไม่สม่ำเสมอ หรือบริจาค 1 ครั้งต่อปี 68 % ส่วนการบริจาคปีละ 4 ครั้ง มีเพียง 4.3% โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน หรือ Gen Z บริจาคโลหิต 11% โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีแนวคิดรณรงค์ให้กลุ่ม Gen Z เห็นถึงความสำคัญและเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาค ผ่านโครงการ “BLOOD CONNECT”เลือดเชื่อมชีวิต ให้ทุกชีวิตได้ไปต่อ

สำหรับการเตรียมพร้อมก่อนบริจาคโลหิต มีดังนี้

– อายุ 17-70 ปี (ครั้งแรกอายุไม่เกิน 60 ปี)

– น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

– นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ 5 ชั่วโมงขึ้นไป

– รู้สึกสบายดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมบริจาคโลหิต

– หากอยู่ระหว่างรับประทานยา ให้แจ้งเจ้าหน้าที่คัดกรองสุขภาพทุกครั้ง

– รับประทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิ ก่อนมาบริจาคโลหิต อย่างน้อย 6 ชั่วโมง

– ดื่มน้ำ 300-500 ซีซี ก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที

– งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง

– งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารควบคุมที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทั้งก่อนและหลังบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง หากใช้เป็นประจำต้องงด 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต

– ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์

ข้อมูลจาก : สภากาชาดไทย, ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ (THAMC)

บริจาคโลหิต