back to top

เตือนซ้ำ! บริโภคเนื้อสัตว์ดิบเสี่ยงโรคแอนแทรกซ์

เมนูเนื้อสัตว์ดิบยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นลาบหมู ก้อยเนื้อ อาหารประเภทต่างๆ ที่ไม่ปรุงสุกไม่ผ่านความร้อน หรือโดยใช้ความร้อนในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย และสารพิษหรือยาฆ่าแมลงตกค้างที่อาจก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ รวมไปถึง โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ออกโรงเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ย้ำว่าโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในดิน น้ำ พืช ผักหรือซากสัตว์ที่ปนเปื้อน เชื้อสามารถทนความร้อนและเย็นได้ดี สปอร์ของเชื้อสามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี และเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 3 ทางหลัก คือ 

1) ทางผิวหนัง (Cutaneous Anthrax) พบบ่อยที่สุดประมาณ 95% ของผู้ติดเชื้อ เริ่มจากตุ่มคัน ก่อนกลายเป็นแผลสีดำล้อมด้วยวงบวมแดง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 1% หากรักษาเร็ว 

2) ทางเดินหายใจ (Inhalational Anthrax) อันตรายที่สุด เกิดจากการสูดสปอร์เข้าไป อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด ก่อนลุกลามไปสู่อาการช็อกและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อัตราเสียชีวิตสูงกว่า 80% หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา 

3) ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Anthrax) มาจากการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุก อาการคือปวดท้องรุนแรง อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีดำ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 25 – 60% ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ได้แก่ คนเลี้ยงสัตว์ คนชำแหละสัตว์ คนทำงานในโรงงานขนสัตว์ หนังสัตว์ อาหารสัตว์ และผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า วิธีการป้องกันการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ ควรเลือกซื้อ และปรุงประกอบอาหาร ดังนี้ 

1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีอาการป่วย ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ชำระร่างกายหลังสัมผัสสัตว์เสมอ 

2) เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ จะต้องมีสีแดงตามธรรมชาติไม่ช้ำเลือด ไม่มีกลิ่นเหม็นบูด และจะต้องไม่มีเม็ดสาคูที่เป็นตัวอ่อนของพยาธิ กรณีซื้อเนื้อสัตว์แช่เย็น ให้สังเกตวันที่ผลิตบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งไม่ควรเกิน 3 วัน นับจากวันที่ผลิตจนถึงวันที่ซื้อ 

3) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนทั่วถึง โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ จะต้องใช้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 5 นาที หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที