back to top

‘ปวดท้องน้อย ปวดหลัง’ แบบไหนต้องระวัง…อาจเป็น ‘นิ่ว’ ที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย

ปวดท้องเป็นอาการแสดงของหลายโรค แต่หากปวดท้องน้อย และปวดหลังพร้อมกัน อาจเป็นสัญญาณเตือนของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ สำหรับการปวดท้องน้อย (pelvic pain) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ หรือระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดขึ้นในทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งสาเหตุและลักษณะการปวดอาจแตกต่างกันไปตามเพศและสภาพร่างกาย

ในส่วนของตำแหน่งปวดท้องน้อย หากสามารถระบุจุดที่ปวดในท้องน้อยสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น หากปวดบริเวณท้องน้อยขวา ซึ่งท้องน้อยด้านขวาเป็นตำแหน่งไส้ติ่ง ท่อไต ปากมดลูก และรังไข่ขวา ดังนั้นลักษณะการปวดต่างๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้ 

1. ปวดเกร็งเป็นระยะๆ ร้าวมาที่ต้นขา เป็นอาการกรวยไตอักเสบหรือนิ่วท่อไต

2. ปวดเสียด บีบ ตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมากบริเวณท้องน้อยด้านขวาอาจจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ

3. ปวดร่วมมีไข้สูง ตกขาว เป็นอาการของปีกมดลูกอักเสบ

4. คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ อาการก้อนไส้ติ่งอักเสบหรือรังไข่ผิดปกติ

ส่วนการปวดบริเวณท้องน้อยซ้าย เป็นตำแหน่งปีกมดลูกและท่อไต รังไข่ด้านซ้าย ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อาการปวดต่างๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้ 

1. ปวดเกร็งเป็นระยะๆ ร้าวมาที่ต้นขา เป็นนิ่วในท่อไต

2. ปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น และมีตกขาว อาการของมดลูกอักเสบ

3. ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ

4. คลำพบก้อนเนื้อร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำ อุจจาระมีมูกปนเลือด ท้องผูกสลับกับท้องเสีย น้ำหนักลด อาจเป็นอาการเนื้องอกในลำไส้

การปวดบริเวณท้องน้อย กรณีตรงกับตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะและมดลูก อาการปวดต่างๆ สามารถบอกโรคได้ ดังนี้ 

1. หากมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเวลาปัสสาวะ อาจเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

2. ปวดท้องน้อย มีไข้สูง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจจะเป็นมดลูกอักเสบ

3. ปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน มีอาการปวดเรื้อรัง แสดงว่ามดลูกมีปัญหาควรรีบพบแพทย์

กรณีอาการปวดท้องน้อยที่มาพร้อมปวดหลังอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปวดแล้วยังมีอาการแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น มีเลือดปน หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง อาการปวดจากนิ่วยังมักเคลื่อนตำแหน่งตามการเคลื่อนตัวของก้อนนิ่วในท่อไตและระบบปัสสาวะ

“นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ” มีลักษณะเป็นก้อนแข็งที่เกิดจากการตกตะกอนของสารเคมี เช่น แคลเซียม ออกซาเลต หรือกรดยูริกภายในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ เมื่อนิ่วเคลื่อนตัวอาจทำให้เกิดการอุดตันและอักเสบ เป็นที่มาของอาการปวดและไม่สบายตัว นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีความแตกต่างเล็กน้อยในผู้หญิงและผู้ชาย

อาการปวดในผู้ชาย หากปวดบริเวณหลัง ท้องน้อย และอาจร้าวลงมาถึงอัณฑะข้างที่มีนิ่ว อาจมีอาการแสบหรือปัสสาวะขัด รู้สึกไม่สบายหรือปวดหน่วงในถุงอัณฑะหากก้อนนิ่วเคลื่อนต่ำลง ส่วนอาการปวดในผู้หญิง ปวดบริเวณหลัง ท้องน้อย และอาจร้าวลงมาถึงช่องคลอดข้างที่มีนิ่ว ปวดหน่วงและเจ็บเวลาปัสสาวะ อาจมีร่วมอื่นๆ เช่น ปวดหลังช่วงล่าง กลั้นปัสสาวะลำบาก

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งมีคนป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาไม่น้อย ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งโรคนี้สาเหตุหลักๆ มาจาก

1. การดื่มน้ำน้อย เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ปัสสาวะจะเข้มข้นสูง ทำให้สารละลายบางชนิดตกตะกอนได้ง่าย

2. กินอาหารที่มีสารก่อให้เกิดนิ่วสูง การรับประทานอาหารที่มีออกซาเลต แคลเซียม หรือโซเดียมสูงเป็นประจำอาจกระตุ้นให้สารเหล่านี้จับตัวกันกลายเป็นนิ่ว

3. พันธุกรรมและโรคประจำตัว บุคคลที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วหรือมีโรคประจำตัว เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน หรือภาวะไตผิดปกติบางชนิด มีแนวโน้มเกิดนิ่วได้ง่าย

4. การติดเชื้อเรื้อรังในระบบทางเดินปัสสาวะ การอักเสบหรือติดเชื้อบ่อยๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เชื้อโรคสร้างสารบางอย่างให้ก่อให้เกิดนิ่ว

5. ยาบางชนิดและภาวะร่างกายผิดปกติ ยาบางตัว หรือภาวะเมแทบอลิซึมที่ไม่สมดุลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว

ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จึงเป็นกลุ่มผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรือไม่เพียงพอในแต่ละวัน, ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่ว, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน เกาต์, ผู้บริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือรับประทานวิตามินซีเสริมในปริมาณมากกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อวัน

วิธีป้องกันทำได้โดยลดความเสี่ยงในการก่อตัวของนิ่ว ดังนี้

1. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือมากกว่า 2 ลิตร เพื่อให้ปัสสาวะมีความเจือจางและลดโอกาสการตกตะกอนของสารเคมีในปัสสาวะ และสังเกตสีของปัสสาวะหากมีสีอ่อนใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ

2. ปรับพฤติกรรมการกิน ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็มจัด รวมถึงอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม บีทรูท ช็อกโกแลต และถั่วบางชนิด ลดปริมาณเนื้อแดงและอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสมดุลสารเคมีในปัสสาวะ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณเหมาะสม เนื่องจากแคลเซียมช่วยจับสารออกซาเลตในลำไส้ ทำให้ดูดซึมน้อยลง

3. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ควรเข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นไว้นาน เพราะอาจทำให้ปัสสาวะค้างและเกิดการตกตะกอนได้ง่ายขึ้น

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดและของเหลวในร่างกายดีขึ้น ลดการเกิดภาวะตกตะกอนของสารในไตและท่อไต

5. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเมแทบอลิซึมผิดปกติ

6. ตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้พบความผิดปกติในระยะเริ่มต้น หากมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว แพทย์อาจแนะนำมาตรการป้องกันเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามหากเริ่มรู้สึกปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดแปล๊บๆ หลังส่วนล่าง หรือมีอาการผิดปกติในการปัสสาวะ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลสุขภาพด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดนิ่ว

ข้อมูลโดย รศ. นพ.ชินเขต เกษสุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล