back to top

สุขภาพคอ บ่า หลัง ในผู้สูงวัย อย่ามองข้าม!

เมื่อความเสื่อมมาเยือน ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน ทั้งการทรงตัว และพฤติกรรมที่จะกระทบกับโครงสร้างกระดูกและข้อต่อ ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงวัย คือ อาการปวดคอ บ่า และหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอาการปวดธรรมดา แต่เป็นผลรวมจากปัจจัยหลายอย่างที่ซับซ้อน 

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ผู้สูงวัยต้องระวังในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 

1. ความเสื่อมของโครงสร้างกระดูกและข้อต่อ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก รวมถึงความหนาแน่นของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดภาวะต่างๆ เช่น โรคข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูก และภาวะกระดูกพรุน ซึ่งล้วนนำไปสู่ความปวดและจำกัดการเคลื่อนไหว 

2. มวลกล้ามเนื้อลดลงและอ่อนแรง ภาวะกล้ามเนื้อลดลง (Sarcopenia) ซึ่งเป็นเรื่องปกติในผู้สูงอายุ ทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงและรักษาสมดุลของกระดูกสันหลัง เช่น กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง อ่อนแอลง ส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องทำงานหนักขึ้นและเกิดอาการปวดง่าย 

3. ท่าทางที่ไม่เหมาะสม การที่กระดูกสันหลังเสื่อมหรือกระดูกพรุน อาจทำให้เกิดภาวะหลังค่อม ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคอ บ่า และหลังส่วนบนทำงานหนักเกินไป รวมถึงการนั่งหรือยืนในท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวดได้ 

4. โรคประจำตัวอื่นๆ โรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเส้นประสาทถูกกดทับ ก็สามารถเป็นสาเหตุของอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรงได้ และอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาคอ บ่า หลัง มักจะมีอาการปวดเมื่อย ตึง ความยืดหยุ่นลดลง อ่อนแรง ชา หรือเหน็บชาบริเวณที่ปวด รวมถึงอาจมีอาการปวดศีรษะ และพบความผิดปกติของท่าทาง

พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ให้ข้อมูลถึงทางแก้ไขว่า การกายภาพบำบัดเป็นแนวทางการรักษาที่ครอบคลุมและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาคอ บ่า หลัง โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินสภาพร่างกายและวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เน้นความปลอดภัย และเหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

1. การลดอาการปวดและการอักเสบ โดยใช้การประคบร้อน/เย็น เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อและลดการอักเสบ ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวด์, เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และเลเซอร์บำบัด เพื่อลดปวดและส่งเสริมการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ 

2. การคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่น นักกายภาพบำบัดจะใช้เทคนิคการนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง และสอนท่าบริหารยืดเหยียดที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อที่ตึงรั้ง 

3. การเสริมสร้างความแข็งแรงและการปรับท่าทางเน้นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง รวมถึงการฝึกการทรงตัวและการเดิน เพื่อเพิ่มความมั่นคง ลดความเสี่ยงในการหกล้ม นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำเรื่องท่าทางที่ถูกต้องในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดภาระต่อกระดูกสันหลัง

4. การปรับสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ช่วยแนะนำการเลือกใช้หมอนและที่นอนที่เหมาะสม การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการหกล้มและอาจแนะนำการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้มีข้อควรพิจารณาในการทำกายภาพของผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. เริ่มต้นอย่างช้าๆ ทั้งการออกกำลังกายและการรักษาควรค่อยเป็นค่อยไป 2. ความสม่ำเสมอ การทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ 3. ความปลอดภัยนักกายภาพบำบัดจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและป้องกันการหกล้มได้ 4. เมื่อผู้ป่วย ญาติ แพทย์ และนักกายภาพบำบัดทำงานร่วมกันการรักษามักประสบความสำเร็จได้ดี 5. การดูแลปัญหาคอ บ่า หลังในผู้สูงอายุด้วยกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดอาการปวด ได้นานยิ่งขึ้น