back to top

เด็กที่ขาดความรัก อาจเติบโตพร้อมโรคเรื้อรัง

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การหารายได้ไม่พอรายจ่าย บวกด้วยความเครียดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว อาจนำมาซึ่งความรุนแรงในบ้าน การเห็นพฤติกรรมไม่ดีของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือเด็กอาจถูกกระทำจากภายนอก ผ่านวันเดือนปีแห่งความเจ็บปวดทั้งกายและใจก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ภายในของเด็กๆ เขากลายเป็นคนพร่องทางใจเมื่อเติบใหญ่ 

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (หมอหมู) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้ข้อมูลในเพจ “หมอหมู วีระศักดิ์” ได้ระบุถึง “บาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma)” หรือที่เรียกว่า ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences – ACEs) ซึ่งสามารถทำลายสุขภาพกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ไปตลอดช่วงชีวิตเด็กคนนั้น

รศ.นพ.วีระศักดิ์ ระบุว่า บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ครอบคลุมเหตุการณ์หลากหลายที่สร้างความเจ็บปวด ความหวาดกลัว หรือความเครียดรุนแรงในวัยเด็กและวัยรุ่นก่อนอายุ 18 ปี ตัวอย่างเช่น

1. การถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือทางเพศ

2. การถูกทอดทิ้งหรือละเลย

3. ความรุนแรงในครอบครัว (การเห็นแม่ถูกทำร้าย)

4. การมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคจิตเวช ติดสารเสพติด หรือถูกจำคุก

5. การหย่าร้างหรือการแยกทางของพ่อแม่

6. การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

บาดแผลทางใจเรื้อรังในวัยเด็กจะกระตุ้นระบบความเครียดของร่างกายให้ทำงานผิดปกติ และกระตุ้นกระบวนการ อักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ผ่านการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นรากฐานของโรคเรื้อรังหลายชนิด

ประสบบาดแผลทางใจเรื้อรังในวัยเด็กมีแนวโน้มที่พวกเขาจะมีปัญหาต่างๆ ดังนี้เมื่อเติบโต 

1. โรคต่างๆ ในวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็งบางชนิด และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune diseases)

2. สุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และ โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) 

3. พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การใช้สารเสพติด และการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นกลไกในการรับมือกับความเครียด

การป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในวัยเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการดูแลด้วยความรักความเอาใจใส่เหมือน “เพื่อน” ที่เด็กสามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และดักทางได้ทันท่วงทีเมื่อเด็กเผชิญกับปัญหา ทำให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคชีวิตไปได้ ช่วยลดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ทำให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดีของครอบครัวและสังคม…หากพ่อแม่รักลูกมากพอ เราเชื่อว่าทุกอุปสรรคจะก้าวข้ามไปได้เสมอ…ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะ