การบูลลี่ไม่เคยหายไปจากสังคมโลกใบนี้ และมีทุกระดับตั้งแต่เด็กเล็กถึงเด็กโต มัธยม มหาวิทยาลัยไปถึงที่ทำงาน และชุมชนก็มี และตอนนี้ยังมี “Bully Marketing” ก็มีให้เห็นเป็นเทรนด์การตลาดรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นโดยการ “ล้อตัวเอง” จนเกิดเป็นกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์ เพราะคอนเทนต์มีความตลก บันเทิงสามารถสร้าง Engagement ได้อย่างดี ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
เรามาเรียนรู้กันว่าบูลลี่มีแบบไหนบ้าง เพื่อตอกย้ำให้สังคมตระหนักและช่วยกันลดการบูลลี่ในสังคมไทย การบูลลี่มี 4 ประเภท ดังนี้ ประเภทแรก การรังแกทางร่างกาย (physical) เช่น การตี ต่อย เตะ การถ่มน้ำลาย ดึงผม กระชากผม หรือการขังเอาไว้ในล็อกเกอร์ ในห้องน้ำ เป็นลักษณะที่ทำซ้ำๆ กับคนเดิมๆ
ประเภทที่สอง การรังแกทางวาจา (verbal) โดยการใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเจ็บปวด อับอาย เป็นการพูดยั่วยุ ยั่วเย้า เสียดสี นินทา ปล่อยข่าวโคมลอย ให้บุคคลที่เป็นเหยื่อรู้สึกเสียหายจากสิ่งที่ผู้กระทำได้พูดออกมา อาจเป็นเพียงแค่การล้อเล่นของคนทำ ขณะที่ผู้ถูกกระทำอาจตีความได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ และได้รับผลในระยะยาว
ประเภทที่สาม การรังแกทางสังคม (social) เป็นลักษณะของการกดดัน บีบบังคับ เช่น ไม่ให้มีใครเป็นเพื่อน การโดดเดี่ยวเหยื่อให้รู้สึกว่าไม่มีใครคบด้วย
ประเภทที่สี่ คือการรังแกในโลกไซเบอร์ (cyber bullying) ซึ่งมีให้เห็นมากขึ้น ซึ่งเป็นการใช้คำพูดทางลบ การปล่อยข่าวโคมลอย การนำภาพที่ไม่ดีนักไปประจานให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อ การคอยติดตามแบบประสงค์ร้าย (stalking) การรังแกในโลกไซเบอร์มีผลกระทบอย่างมาก เพราะมีผู้คนพบเห็นได้มากและผลิตซ้ำได้
สำหรับการรังแกกันในวัยอนุบาล เช่น การตี การกัด การแย่งของ ในมุมมองของเด็กอนุบาลอาจไม่รู้จักคำว่ากลั่นแกล้งรังแก แต่เป็นพฤติกรรมที่เขามองว่าไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้จักการขอหรือการเจรจาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงออกมาในรูปของความก้าวร้าวและไปรังแกคนอื่น
ส่วนในวัยมัธยมที่จะพบมาก มาจากการให้คุณค่าของเด็กวัยรุ่นที่อยู่ที่การได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะจากเพื่อน พฤติกรรมการรังแกหรือการแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีอำนาจ แข็งแรง บางครั้งก็มองว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่การได้รับการยอมรับจากเพื่อน วัยรุ่นบางคนจึงใช้การรังแกผู้อื่นเพื่อสร้างสถานะทางสังคมของตน และสร้างการยอมรับจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน
การที่บางคนเลือกที่จะรังแกผู้อื่นให้เกิดความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ ให้คนนั้นอับอาย ด้วยความรู้สึกสนุก ความรู้สึกสะใจอยู่นั้น อาจมาจากความต้องการภายในที่ต้องการแสดงออกถึงการมีอำนาจ การเป็นที่ยอมรับของสังคม การได้รับความนิยมชมชอบว่ามีความเหนือกว่า มีความสามารถในด้านต่างๆ ที่มากกว่า ซึ่งมาจากการอยากเป็นผู้นำ อยากสร้างความรู้สึกดีกับตนเอง อยากให้ผู้อื่นรู้สึกชมชอบ บางคนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแต่ก็กระทำซ้ำในการบูลลี่ผู้อื่นได้อาจจะมาจากภูมิหลังที่เคยถูกบูลลี่ ทำให้วงจรของการบูลลี่ไม่สิ้นสุดและส่งต่อความเจ็บปวดนั้นไปเรื่อยๆ เป็นการระบายความเจ็บแค้น เป็นการแทนที่ความเจ็บปวดไปยังผู้อื่น เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ตนเองอาจจะรู้สึกถูกลดอำนาจ รู้สึกสูญเสียความรู้สึกดีกับตัวเอง
ต้นตอของการบูลลี่คนอื่นนั้น ปัจจัยหนึ่งจากการเสพสื่อ เพื่อให้เกิดความบันเทิง จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้มองว่าการหยอกล้อ เย้าแหย่คน เพื่อความสะใจ เพื่อความสนุกสนานเป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำต่อผู้อื่นได้ และปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การเลี้ยงดูของครอบครัวที่ขาดตัวแบบการดูแลที่เหมาะสม มีความรุนแรงในครอบครัว รู้สึกชินชาหรือคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง และมองว่าการกระทำการรุนแรงต่อผู้อื่น โดยไม่ใส่ใจเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น โรงเรียน หรือในที่ทำงาน การเห็นว่าคนที่บูลลี่คนอื่นได้รับการยอมรับจากสังคมจริงๆ คือพอทำแล้วได้รับคำชื่นชม ว่าเป็นคนเก่ง คนกล้า จึงอยากทำตามเพื่อที่จะได้รับคำชมหรือถูกมองว่าเก่งเหมือนกัน
การป้องกันไม่ให้เกิดการบูลลี่ ครอบครัวเป็นจุดสำคัญที่ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า สิ่งที่เกิดขึ้นในและแต่ละวัน เพราะหากมีใครที่สามารถบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ก็จะเกิดการรับรู้ว่าไม่ได้เผชิญปัญหาตามลำพัง มีคนที่ช่วยกันคิดว่าจะหาทางออกอย่างไรทำให้บุคคลนั้นไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีที่พึ่ง มีคนปลอบใจ และมีคนที่ร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
ทั้งนี้เด็กๆ ต้องถูกปลูกฝังจากครอบครัวว่า การรังแกเผชิญอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรได้รับ ถ้าผู้ปกครองให้ความมั่นคงและความมั่นใจกับเด็ก ความรู้สึกด้อยเมื่อถูกรังแกก็จะไม่เกิดผล ดังนั้นนอกจากคนในครอบครัวจะเป็นตัวแบบ (role model) ที่ดีแล้ว การสอน การอธิบาย การได้คุยกันในบ้าน จะทำให้เด็กรู้สึกมีที่พึ่ง และยังช่วยให้เห็นถึงทางเลือกในการแสดงออกโดยไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการกลั่นแกล้ง หรือตอบสนองด้วยความรุนแรง เทียบกับการที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะเล่าให้ใครฟังแล้ว ผู้ที่ถูกกระทำอาจใช้วิธีหนีสถานการณ์โดยยินยอมให้เขาทำแล้วแอบไปร้องไห้ โดยการไม่พูดกับใคร ไม่ทำอะไรเลย เป็นการยอมจำนนต่อสถานการณ์ คนที่รังแกข่มเหงก็จะรู้สึกมีอำนาจมากชึ้น และไม่ได้รับผลทางลบอะไร พฤติกรรมรังแกก็จะวนเวียนซ้ำๆ
ส่วนเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถในการตอบโต้ ผู้ปกครองต้องใส่ใจ ถามไถ่ความเป็นไปที่โรงเรียน โดยพ่อแม่ต้องเข้าหาพูดคุย และถามคำถามที่เจาะจงลงไป เช่น “มีเพื่อนคนไหนที่ชอบคุย มีเพื่อนคนไหนที่ไม่ชอบเล่นด้วย เพราะอะไร” ช่วยเข้าไปแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยอาจชวนคุยถึงแนวทางที่จะแก้ปัญหาก่อนเพื่อให้เด็กเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น เช่น การบอกเพื่อนให้หยุด การไปแจ้งคุณครู ผู้ปกครองต้องเทรกแซงเมื่อจำเป็น โดยอาศัยความร่วมมือจากทางโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องมีนโยบายในการต่อต้านการบูลลี่ และอาจมีผู้ให้การปรึกษาทางจิตวิทยาในโรงเรียน (school counsellor) ในการช่วยเหลือบุคคลที่ถูกรังแก และแก้ไขบุคคลที่รังแกผู้อื่น
วิธีที่ผู้ปกครองจะสังเกตถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปที่แสดงว่ามีการบูลลี่เกิดขึ้น เช่น จากที่เคยเล่น ก็ไม่เล่น เริ่มเก็บตัว ไม่เล่าถึงเพื่อนไม่พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ไม่ทำการบ้าน และไม่ทำกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน จนถึงการปฏิเสธการไปโรงเรียน หรืออาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมความรุนแรง เพื่อให้สามารถสร้างกลุ่มและอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้
ทั้งนี้การแบ่งพรรคแบ่งพวกถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใครที่เหมือนกับเราก็จะรู้สึกอยากเป็นเพื่อนด้วย ส่วนใครที่ไม่เหมือนเราก็จะมองว่าเขาต่าง เขาไม่ปกติ และในสังคมไทยด้วยแล้วจะมีลักษณะยึดโยงที่จะทำอะไรตามเสียงของคนส่วนใหญ่ หากคนหมู่มากทำอะไรก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นบรรทัดฐานของสังคม ดังนั้นคนที่มีลักษณะแตกต่าง หรือมีลักษณะพิเศษ จึงมักตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเป้าหมายการบูลลี่ได้
สิ่งที่จะแก้ไขได้คือ ฝึกให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และทุกคนในสังคมต้องเปิดใจให้มากขึ้น ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายว่าเป็นเรื่องปกติ
ที่มา : https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2023-bullying/