ในการประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ วันนี้ 9 มกราคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568 ว่าในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2567 สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ทั่วประเทศ ใน 6 โรค 1,048,015 ราย แยกเป็น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 ราย โรคตาอักเสบ 357,104 ราย โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 ราย โรคหืด 18,336 ราย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 ราย และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 28 ราย
โดยได้ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 มาตรการ ตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ได้แก่ 1. สร้างความรอบรู้ให้ประชาชน โดยติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนผ่านระบบดิจิทัล เช่น Platform หมอพร้อม, SMART อสม. ครอบคลุมทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
2. การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุน มุ้งสู้ฝุ่น”รวมถึงพิจารณา Work From Home สำหรับกลุ่มเปราะบางเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
3. จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยขยายเครือข่ายบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ทั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ คลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาคลินิกมลพิษออนไลน์ จัดระบบนัดหมายคลินิกมลพิษระบบผ่านหมอพร้อม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่/ทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียนประจำ เป็นต้น
4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หากสถานการณ์รุนแรง ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้ พรบ.การสาธารณสุข ควบคุมฝุ่นละออง
ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ 2,000 – 3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล สำหรับค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ อาทิ หอบหืด 2,752 บาท ต่อครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 16,000 บาท มะเร็งปอด 141,100 – 197,600 บาท มีคำแนะนำให้ใช้มุ้งสู้ฝุ่นในกลุ่มติดเตียง จะสามารถลดการเข้ารักษาใน รพ. ได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท
สำหรับค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐานหลายพื้นที่ กรมอนามัยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นฟุตบอล เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้อัตราการหายใจมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสที่ฝุ่น (PM2.5) จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมปอด ซึมผ่านกระแสเลือด และไปยังอวัยวะต่างๆ มีมากขึ้น รวมถึงไปขัดขวางการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ปริมาณของออกซิเจนลดน้อยลง ทำให้ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้น และห้ามสวมหน้ากากทุกชนิด ในขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรงและเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้นและอาจเป็นอันตรายได้
ทั้งนี้โดยปกติ เราจะหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 ลิตร/นาที และขณะออกกำลังกายหรือวิ่ง อัตราการหายใจจะเพิ่มขึ้น อาจสูงถึง 10-50 ลิตร/นาที หรือมากกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้หายใจเอาฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงนี้ ซึ่งฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่
โดยขอให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ เมื่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับสีส้ม) ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในร่ม หรือในบ้านแทน เช่น เปิดคลิปวีดีโอออกกำลังกายประเภทต่างๆ แล้วทำตามที่บ้าน หรือ ออกกำลังกายตามสถานที่ต่างๆ ที่มีสนามในร่ม เช่น คอร์ดแบดมินตัน วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ปิงปอง สระว่ายน้ำในร่ม ฯลฯ
เมื่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับสีแดง) ให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในอาคาร สถานที่ออกกำลังกาย (ยิม) หรือว่ายน้ำในสระว่ายน้ำระบบปิดแทน
สำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ ควรเลือกออกกำลังกายในบ้าน หรือสถานที่ร่มแทน เช่น เปิดคลิปวีดีโอออกกำลังกายประเภทต่างๆ แล้วทำตามที่บ้าน ได้แก่ แอโรบิก โยคะ หรือ ออกกำลังกายตามสถานที่ต่างๆ หรือที่มีสนามในร่ม เช่น คอร์ทแบดมินตัน วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ปิงปอง สระว่ายน้ำในร่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ ประชาชนควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนตัดสินใจไปออกกำลังกาย ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ “AirBKK” ของกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงค่อยออกกำลังกายกลางแจ้งตามปกติเพราะดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ช่วยให้ปอด หัวใจ และระบบไหลเวียนของเลือดทำงานดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรค รวมทั้งยังทำให้มีสุขภาพดีในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับประชาชนที่นิยมการวิ่งแข่งขันมาราธอน ช่วงนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยง หรืองดกิจกรรมดังกล่าวไปก่อน เพราะการวิ่งแข่งขันมาราธอน ต้องใช้เวลาวิ่งกลางแจ้งเป็นเวลานานว่าปกติ ซึ่งการวิ่งเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพราะขณะวิ่งอัตราการหายใจจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายต้อง หายใจลึกขึ้น หายใจเร็ว ผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นต่อร่างกายทันที คือ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ส่วนผลในระยาว คือ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น