ไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้รับการกล่าวถึงการ “ตายดี” และ Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต แต่ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้ง อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย ก็มีการออกกฎหมายรองรับ สนับสนุนการปฏิบัติและปรับเปลี่ยนทัศนคติทางการแพทย์ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ให้สิทธิผู้ป่วยในการตายตามธรรมชาติ และปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต (Right to refuse medical treatment) โดยสามารถทำหนังสือแสดงเจตจำนงหรือเรียกง่ายๆ ว่า พินัยกรรมชีวิต เช่น จะไม่ขอรับบริการสาธารณสุข ในเรื่องการกู้ชีพเมื่อหัวใจหยุดเต้น การใช้เคมีบำบัด การล้างไต การถ่ายเลือด เป็นต้น
ทั้งนี้ การดูแลแบบประคับประคอง ในกฎหมาย หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะจำกัดการดำรงชีวิต ผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา เพื่อส่งเสริมให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการบำบัดเยียวยาและบรรเทาทุกข์ทางกาย ใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
THE HUMANs สนทนาต่อเนื่องกับ นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ประจำศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากระบบ Palliative Care ได้รับการยอมรับในวงการสาธารณสุขไทยมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
THE HUMANs : Palliative Care ช่วยให้ผู้ป่วยจากไปได้อย่างไรคะ
“ศาสตร์ของ Palliative Care โดยหลักการแล้วคือการไม่ยื้อความตาย หรือทำให้ชีวิตของผู้ป่วยหดสั้นลง เพราะหากคนๆ หนึ่งจะตาย เขาก็ควรตายด้วยเวลาตามธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยต้องตกอยู่ในความทรมานจริงๆ โดยไม่มีวิธีอื่นช่วยได้ ทางเลือกของศาสตร์นี้คือการช่วยให้เขา “หลับ” ไป เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้ถึงความทรมานอีก
โดยความหมายของการ “หลับ” ก็คือการนอนหลับเหมือนการหลับพักผ่อนตามปกติ แต่ระยะเวลาของการหลับ ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน เช่น บางคนต้องพบความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดมาก เราจำเป็นต้องช่วยให้หลับไป จนกระทั่งจากไปเองโดยธรรมชาติ ขณะที่บางท่านขอตื่นขึ้นมาเพื่อจะได้เห็นหน้าลูกหลานวันละครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมงก็พอ เพราะการตื่นหมายถึงการแลกกับความเจ็บปวด เป็นต้น”
THE HUMANs : แล้ว “การุณยฆาต” คืออะไรคะ
“การุณยฆาตคือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ตอนที่ผมเขียนเรื่องการุณยฆาต ผมต้องค้นคว้าเยอะมาก ต้องอ่านประวัติศาสตร์เพื่อจะย้อนดูที่มาว่าทำไมจึงเกิดการุณยฆาตขึ้น จนได้พบคำตอบว่า เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งไม่มีทางรักษา บวกกับต้องเผชิญปัญหาต่างๆ รุมเร้า พวกเขาจึงตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย
ในปัจจุบัน กลุ่มคนที่ต้องการจบชีวิต เริ่มตระหนักว่าการฆ่าตัวตายต้องเจ็บปวดทรมาน จึงหันมาดูว่าแล้วในทางการแพทย์พอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้จากไปแบบที่สบายกว่า แต่ทางการแพทย์ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในเรื่องนี้ได้หรือไม่ และถ้าได้ ก็คิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร
แต่เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการอยากที่จะจากไปของผู้ป่วย พบว่านั่นคือความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ด้วยวิธีอื่นได้ ก็น่าจะดีกว่า ซึ่ง Palliative Care คือวิธีนั้น”
THE HUMANs : กระบวนการของการทำให้ “หลับ” ต้องทำอย่างไร เหมือนกับ “การุณยฆาต” หรือไม่
“ในข้อเท็จจริงแล้ว ตอนนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก สามารถรักษาความเจ็บปวดได้เกินร้อยละ 90 มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไม่สามารถรักษาโดยวิธีใดๆ หมอจึงจะทำให้หลับด้วยการฉีดยา แล้วปล่อยให้หยดเข้าสู่เส้นเลือด เพื่อให้คงความหลับไว้ตราบเท่าที่ตัวยายังหยดอยู่ จนกว่าผู้ป่วยจะจากไปเองตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนว่านี่คือการุณยฆาตหรือไม่ เนื่องจากเมื่อให้ยา ผู้ป่วยก็จะหลับโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย ซึ่งในศาสตร์ของ Palliative Care ไม่ใช่การุณยฆาต เพราะเป็นการให้ยาเพื่อให้หลับเท่านั้น และผู้ป่วยเสียชีวิตไปเองตามเวลาของธรรมชาติ ขณะที่การุณยฆาตมีจุดประสงค์เพื่อให้เสียชีวิตไปในขณะนั้นเลย การใช้ยาก็เป็นคนละกลุ่มกัน”
THE HUMANs : หมายความว่า “การุณยฆาต” ไม่จำเป็นแล้ว
“ปัจจุบันการุณยฆาตยังผิดกฎหมายในไทย มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ทำได้อย่างถูกกฎหมาย สำหรับผมเองคิดว่าการทำการุณยฆาตในประเทศไทยน่าจะยังไม่ถึงเวลา เนื่องจากการุณยฆาตจะทำก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจนไม่มีทางใดช่วยได้แล้วเท่านั้น แต่ปัญหาของเราคือผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ หากสามารถเข้าถึงการดูแลได้ น่าจะทำให้ความทุกข์ทรมานน้อยลง จนไม่ต้องการที่จะทำการุณยฆาตอีกก็เป็นได้”
THE HUMANs : 11 ปีก่อน Palliative Care เป็นเรื่องใหม่ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
“ปัจจุบันก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อน ไม่มีการเรียนการสอนระดับแพทย์เฉพาะทางในไทย ต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่ตอนนี้มีสอนในไทยแล้ว เช่น ศิริราช จุฬาฯ รามา ขอนแก่น และเชียงใหม่ คิดว่าต่อไปน่าจะดีขึ้น และนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มสนใจศาสตร์ด้านนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
บรรยากาศก็ต่างกัน เมื่อก่อนจะมีค่านิยมว่าแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยให้หาย ไม่อย่างนั้นจะมาเรียนหมอทำไม แต่ปัจจุบันเริ่มเข้าใจว่าการรักษาบางอย่างก็มาสุดทางแล้ว หมอเริ่มยอมรับมากขึ้น ประชาชนเองก็เข้าใจมากขึ้น และเริ่มพูดคุยกันอย่างเปิดเผย มีการยอมเขียนพินัยกรรมชีวิต เพื่อจะวางแผนการจากไปของตัวเองไว้ล่วงหน้า”
THE HUMANs : อยากให้คุณหมอเล่าถึงชีวิตส่วนตัวบ้าง คุณหมอเติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวแบบไหนคะ
“ผมเติบโตในครอบครัวชาวจีนแท้ๆ เลย อาม่ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ คุณพ่อของผมท่านเป็นลูกคนโต แต่เสียชีวิตไปเมื่อผมยังเล็ก ส่วนผมเองก็เป็นลูกคนโต ในวิถีชีวิตของชาวจีน ลูกคนโตของลูกคนโต ก็เท่ากับเป็นลูกชายของอาม่าด้วย ทำให้ผมเป็นคนที่อาม่าฝากความหวังไว้ โดยเฉพาะการสืบทอดธุรกิจ
ครอบครัวของผม อาม่าท่านบุกเบิกธุรกิจโรงงานน้ำแข็งไว้ แต่เมื่อผมมาเรียนสายแพทย์ ตอนเรียนใกล้จบ อาม่าท่านถามว่าผมจะสืบทอดกิจการต่อจากท่านไหม ผมตอบท่านไปว่าผมอยากเป็นแพทย์มากกว่า อาม่าท่านก็ไม่พูดอะไร ท่านบอกแค่ว่า งั้นก็ต้องขายกิจการไป นี่คือบาดแผลในใจของผมมากว่าผมได้ทำร้ายจิตใจท่าน
แม้ในตอนที่ท่านใกล้จะจากไป บาดแผลนั้นก็ยังอยู่ในใจ จนผมต้องไปขอโทษท่าน ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อจากอาม่าได้ แต่อาม่ากลับบอกว่าท่านดีใจ และมีความสุขที่เห็นผมกล้าเลือกเส้นทางที่ต้องการเพื่อให้ตัวเองมีความสุข ดังนั้น ผมจึงไม่ได้เป็นแพทย์จากความพยายามของตัวเองเท่านั้น แต่มาจากความเสียสละของอาม่าด้วย จึงยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้มีคุณค่าต่อชีวิตของผมมาก”
THE HUMANs : การทำงานนี้ คุณหมอได้พบความโศกเศร้า และความน่ายินดีอะไรบ้าง
“ต้องยอมรับว่างานนี้เป็นงานที่เศร้าในการรับรู้เรื่องราวของการจากพราก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่มีความภาคภูมิใจ ลองคิดดูว่า แค่เราได้ดูภาพยนตร์ที่มีฉากของตัวละครที่เสียชีวิตไปอย่างสงบ บางครั้งเรายังรู้สึกมีความสุขตาม แต่ในงานที่ผมทำอยู่ ผมคือคนที่ทำให้เขาได้จากไปอย่างสงบ โดยการเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ ทำให้เขาได้อยู่ท่ามกลางความรักจากครอบครัวเป็นครั้งสุดท้าย ความสุขที่เกิดขึ้นนี้มากมายกว่าการเป็นแค่คนดูอีกเยอะเลย
แต่มีความเศร้าอีกอย่างหนึ่งที่ต่างออกไป ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักถูกละเลยจากสังคมหรือจากทางการแพทย์ เนื่องจากรักษาไม่ได้แล้ว ไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไปแล้ว จนทำให้เกิดการถอดใจขึ้น แต่หากมีคนเข้ามารับช่วงดูแลต่อ และทำหน้าที่คอยห่วงใยใส่ใจ โดยช่วยวางแผนชีวิตก่อนถึงวันตายว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้ป่วยอยากทำ อะไรคือความสุขในระยะสุดท้ายของชีวิต และหากมีโอกาสได้ทำก่อนตาย ก็จะเป็นการตายที่ดีหรือเป็นการจากไปที่สมบูรณ์
ส่วนความน่ายินดีคือ หลายครั้งที่ผมได้ดูแลผู้ป่วยจนเขาเสียชีวิตไป แต่ครอบครัวก็ยังกลับมาหาเพื่อกล่าวคำขอบคุณที่ได้ช่วยดูแลผู้ที่เขารักจนจากไปได้อย่างสงบเช่นนี้ ในคำว่าขอบคุณ แม้จะเป็นคำสั้นๆ แต่เมื่อมาจากหัวใจ คำนี้ก็มีความหมาย และเป็นกำลังใจให้ผมอย่างมากต่อการทำงานด้านนี้”
THE HUMANs : อะไรคือความสุขในชีวิตของคุณหมอคะ
“ความสุขของผมก็เกี่ยวข้องกับการทำงาน ผมดีใจที่ได้ดูแลผู้ป่วย ดีใจที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต และสามารถทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าในชีวิตที่เหลืออยู่ว่าเขาควรทำอะไรในตอนนี้ ย้อนไปเมื่อตอนที่ผมเริ่มศึกษาธรรมะ และเรื่องราวเกี่ยวกับจิตใจ ได้ทำให้ผมค้นพบความหมายอย่างหนึ่งของการมีชีวิต ตามที่ท่านพุทธทาสบอกว่า “เราใช้ชีวิตอย่างไร เราจะตายอย่างนั้น”
และโดยเฉพาะเมื่อผมทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ยิ่งทำให้ค้นพบว่าสิ่งนี้เป็นความจริงมากๆ ทุกวันนี้เราทำอะไร เราเป็นอย่างไร สุดท้ายเราจะตายอย่างนั้น เราคงจะตายดีไม่ได้ หากวันนี้เรายังเสเพล ก็เลยตอบโจทย์ว่า หากเราต้องการมีบั้นปลายชีวิตที่สุขสงบ หมายความว่าเราต้องใช้ชีวิตในวันนี้ให้สุขสงบด้วย”
นี่คือเรื่องราวของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการุณยฆาต ผ่านการเล่าจาก นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้คลุกคลีอยู่กับความเป็นความตายของมนุษย์ และผู้อยู่เบื้องหลังที่ช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้การจากไปนั้นสงบ ท่ามกลางความสุขความรักจากครอบครัว