“เมื่อเราได้เข้าไปช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันแล้วผู้ป่วยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กลับมาเดินได้ และเคลื่อนไหวได้ปกติ นั่นคือ Change ที่เห็นกับตาทันที ซึ่งผมภูมิใจที่เห็นผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
อาการเกร็งและสั่นจากพาร์กินสัน กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงต่อโรคนี้น้อยมาก ทำให้ ‘ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ’ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งมั่นที่จะสั่งสมประสบการณ์ เพื่อแก้ไขการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย แรงบันดาลใจอันแรงกล้าของเขาเกิดขณะเป็นแพทย์ฝึกหัดด้านประสาทวิทยามหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ ที่ได้เห็นคนไข้อาการหนักกลับมาลุกเดินได้เป็นปกติ
“สมัยก่อนแพทย์ฝึกหัดที่ประเทศอังกฤษจะวนไปหลายโรงพยาบาล แห่งละ 6 เดือน ช่วงผมไปอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ Oxford พบคนไข้พาร์กินสัน อาจารย์แพทย์จะถามคนไข้ ทำการรักษา และปรับยา ทำให้คนที่นอนป่วยอยู่บนเตียง ลุกขึ้นมาเดินได้ ผมรู้สึกเหมือน Miracle จริงๆ ตอนนั้นคนมักคิดว่าโรคสมองเสื่อมคือตันแล้ว รักษาไม่ได้ แต่พาร์กินสันแตกต่าง ขึ้นกับการ Manage Change พอเราได้เห็นต่อหน้าต่อตาว่าคนไข้ดีขึ้นทันที ผมจึงสนใจตรงนี้”
ความมุ่งมั่นของ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จากเดิมตั้งใจจะใช้เวลา 3 ปีเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ เอาเข้าจริงเขาอยู่ทั้งหมด 12 ปี เป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพาร์กินสันจาก มหาวิทยาลัย UCLA สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับเมืองไทย ดำรงตำแหน่งแพทย์ด้านอายุรกรรม ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ ในปี 2548 เขานำ Passion ความรู้และวิชาการด้านรักษาผู้ป่วยโรคสมอง มาช่วยผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง ณ เวลานั้นระบบการรักษาและแพทย์ประสาทวิทยายังมีจำกัด ประชาชนยังเข้าไม่ถึงการรักษา
ด้วยเป็นคนคิดนอกกรอบ และมองความก้าวหน้าในการรักษา ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเป็นเป้าหมายใหญ่ คุณหมอไม่ได้อยู่แต่ในห้องตรวจคนไข้ แต่ก้าวออกไปทำสัมผัสประชาชน เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โรคในประเทศไทยด้วยตัวเอง อุทิศเวลาฝ่าแดดร้อนระอุ ถือไมโครโฟนเล็กๆ มุ่งไปตามถนนสีลม สัมภาษณ์ประชาชน คนวัยทำงาน คนหาเช้า-กินค่ำ ด้วยคำถามง่ายๆว่า… “คุณรู้จักโรคพาร์กินสันหรือไม่?” คำตอบ คือแทบไม่มีใครรู้จักอย่างมากคือรู้ว่า “มีอาการสั่นๆ เกร็งๆ”
“การที่คุณจะเข้าใจอะไรสักอย่าง ต้องทำตัวเหมือนผู้อื่น ผมจึงเดินเข้าไปหาผู้คนส่วนใหญ่ คำตอบที่ได้คือไม่รู้จัก โรคอะไรที่สั่นๆ อัลไซเมอร์ คนไทยยังไม่รู้ว่าพาร์กินสันว่าคืออะไร จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเริ่มทำศูนย์พาร์กินสัน จากหมอคนเดียวและพยาบาลอีกหนึ่ง งบประมาณก็ไม่มี เราเริ่มต้นจากส่วนที่พอทำได้ เพื่อให้คนในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญ”
คุณหมอ ตัดสินใจคิดทำโครงการรณรงค์ให้คนรู้จักและเข้าใจโรคพาร์กินสันด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากสถานศึกษา และโฟกัสไปที่ ‘นักเรียนมัธยม’ โดยมีแนวคิดว่า ถ้าเด็กๆ สนใจสงสัย จะตั้งคำถาม และขยายผลไปสู่พ่อแม่และครอบครัว จึงจัด‘ประกวดคำขวัญโรคพาร์กินสัน’
“เมื่อว่างจากการตรวจคนไข้ผมจะลงมือใส่ซองปิดแสตมป์จดหมาย กว่า 1,000 ฉบับ ส่งไปถึงโรงเรียนต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ ปรากฏว่ามีเด็กตอบกลับมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่คุณครูก็แสดงความขอบคุณที่ช่วยคิดการบ้านให้ ”
เมื่อประกวดเสร็จได้ผู้ชนะ ก็ต้องจัดงานต่อเนื่อง ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ลุยเดินขอสปอนเซอร์จากองค์กรต่างๆด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะตอนนั้นคนไม่รู้จักผม “เดินไปตามสถาบันกวดวิชาหลายแห่งที่สยามสแควร์ ขอแปะโปสเตอร์ พอเดินเข้าไปบอกเป็นแพทย์จุฬา พูดยังไม่ทันจบก็โดนไล่เสียแล้ว เพราะเค้าไม่เชื่อว่าเราเป็นหมอ มาแอบอ้างมากกว่า แต่สุดท้ายก็ได้จัดงานสำเร็จ และประชาชนรู้จักเรามากขึ้น”
คุณหมอ เพิ่มความตระหนักรู้ผู้ป่วยในประเทศไทย ด้วยโครงการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยพาร์กินสันทั่วประเทศ แม้เป็นภารกิจที่ยาก ต้องใช้เวลาพูดคุยกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เห็นความสำคัญ แต่ได้รับการตอบรับในเวลาต่อมา ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์พาร์กินสันมากกว่าเดิม นำไปสู่โครงการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา
จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านเกือบ 20 ปีแล้ว สังคมเปลี่ยนไป มาพร้อมกับจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มเท่าทวี ผู้คนหันกลับมาห่วงใยและใส่ใจ ‘โรคทางประสาทวิทยา’ ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬา มีเจ้าหน้าที่กว่า 30 คนแม้จะมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนแต่ก็ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา และไม่รู้วิธีดูแลตัวเอง คุณหมอจึงวางระบบทำงานใช้เทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น
“ผมจะเน้นเรื่องการป้องกันโรค ขอให้คนหันกลับมาดูแลตัวเอง Take Action ได้เร็วยิ่งเป็นเรื่องดี ไม่มีวิตามินอะไรป้องกันได้ ผลรวมอยู่ที่สิ่งที่คุณทำ เปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”
คุณหมอรุ่งโรจน์ ยังคงทุ่มเทต่อเนื่อง สละเวลาลงพื้นที่ห่างไกลด้วยตัวเอง เพื่อได้เห็นสภาพของผู้ป่วยแต่ละจังหวัด เช่น ปัตตานี ยะลา โคราช ซึ่งมีสถานการณ์แตกต่างกัน บางพื้นที่จะนำนวัตกรรมที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ คิดค้นขึ้น ไปมอบให้ผู้ป่วยเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม
“สมัยก่อนเวลาเราพูดถึงพาร์กินสัน จะมีคำว่า Idiopathic เป็นศัพท์แพทย์ แปลว่า ไม่รู้ โรคที่ไม่รู้สาเหตุ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป เพราะเรารู้ว่ามันเกิดจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม มารวมกันพอเหมาะพอเจาะ ทำให้คนแต่ละคนเกิดอาการ ผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อย สัดส่วนจากกรรมพันธุ์จะมาก ส่วนผู้ป่วยที่อายุมาก สัดส่วนจากสิ่งแวดล้อมจะเป็นหลัก”
ส่วนกลุ่มเสี่ยงโรคพาร์กินสัน เช่น เรื่องอายุ พบว่า คนวัยเกิน 60 ปี พบ 1% และคนวัยเกิน 80 ปี มี 3-5% ปัจจัยด้านพันธุกรรม คือคนที่มีพ่อแม่เป็นพาร์กินสัน มี ยีน (Gene) ก็อาจเสี่ยงเพิ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะมีอาการเสมอไป
คุณหมอ บอกว่า กลุ่มที่เป็นพาร์กินสันอายุน้อยในประเทศไทย 8-10% เป็นกลุ่มที่วินิจฉัยช้า คนนึกไม่ถึงว่าจะเป็น และกลุ่มนี้มักไม่ค่อยสั่น เวลาไปหาหมอก็จะนึกไม่ถึง เพราะคิดว่าเป็นพาร์กินสันแล้วต้องสั่น แต่พาร์กินสันประเภทนี้ ร้อยละ 40 ไม่มีอาการสั่น คนไข้บางส่วนจะมาเรื่องปวดไหล่ ขยับแขนไม่ได้ เหมือน ออฟฟิศซินโดรม แต่เริ่มข้างเดียวก่อน ซีกเดียว หรือปวดขา เดินลำบาก เกร็งและขาบิด อาการจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงพาร์กินสันที่ป้องกันได้ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช มีการพบชัดเจนมากๆ อยู่ใกล้ตัวคนเมือง เช่น เรื่องอาหารการกิน หรือ กลุ่มอาชีพชาวนา เกษตรกร หรือนักมวย ก็สำรวจพบว่าป่วยเป็นโรคพาร์กินสันเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ไม่เพียงรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังทุ่มเทค้นคว้าวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า “ทุกอย่างกำเนิดมาจากไอเดียผู้ป่วย” พัฒนาจากปัญหาที่ต้องเผชิญ อย่างไม้เท้าเลเซอร์ หรือ เครื่องมือตรวจและวิเคราะห์อาการสั่น และเครื่องมือวัดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย หรือ ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น เป็นต้น
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ยังมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ มากกว่า 230 เรื่องในวารสารวิชาการนานาชาติ และตำราแพทย์ด้านประสาทวิทยาและการเคลื่อนไหวภาษาอังกฤษ 4 เล่ม เป็นทั้งคุณหมอรักษาเฉพาะทาง และอาจารย์แพทย์ ผู้ได้รับรางวัลอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่นจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และล่าสุด คือ รางวัล “เชิดชูเกียรติแพทย์จุฬาดีเด่น” ในโอกาสครบรอบ 75 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ผมได้พบสิ่งที่หลากหลาย ได้เรียนรู้ตลอดเวลา เป็นอาชีพที่เข้าถึงคน เพียงแต่จะทำประโยชน์ในรูปแบบไหน ผมไม่ได้เป็นโมเดลของทุกคน แค่อาจเป็นโมเดลให้บางคน ผมก็ดีใจแล้ว เพราะทุกโครงการที่ทำ ผมทำจากใจ ”
จากแพทย์ฝึกหัด สู่ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ที่มีชื่อเสียง เส้นทางอาชีพของคุณหมอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ละโครงการที่ทำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยพาร์กินสัน และรณรงค์ให้คนไทยรู้จักโรคนี้ ไม่ได้ทำโดยง่าย ต้องฝ่าด่าน และข้อจำกัดมากมาย แต่ด้วยอุดมคติของแพทย์ ที่ต้องการอุทิศเวลาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันของประเทศไทย วันนี้ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ เป็นที่ศรัทธาของผู้คน และความหวังของผู้ป่วย และยังเดินหน้าทำงานเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันต่อไป