back to top

Eat/Move/Sleep นอนดี กินดี มีเวลาออกกำลังกาย ป้องกันพาร์กินสัน

วันก่อนเราได้เข้าฟังออนไลน์โครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร หัวข้อ “โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้” โดยสำนักวิทยาศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของเราและคนใกล้ชิด จึงนำข้อมูลดีๆ มาฝากผู้อ่าน

เสวนาครั้งนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนทัพใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันเลยก็ว่าได้ เพื่อร่วมกันแชร์ข้อมูล และร่วมรณรงค์ป้องกันโรคนี้ หรืออย่างน้อยมาหาหมอตอนเพิ่งเริ่มเป็น ไม่ปล่อยจนโรคลุกลามยากต่อการฟื้นตัว ที่คุณหมอผู้เชี่ยวชาญหลายท่านต้องออกมาเตือนกัน ก็เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยพาร์กินสัน คือ 60 ปี แต่พาร์กินสันก็ไม่ได้เป็นโรคของคนแก่อีกต่อไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอายุน้อยลง ตอนนี้มีผู้ป่วยราว 3.29 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 23 ปีก่อนถึง 100% สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และต้องรีบปรับแก้ ก็คือผู้ป่วยมักจะมาหมอเมื่อมีอาการมากแล้ว ต้องใช้ยารักษาในปริมาณมาก ขณะที่โรคนี้มีแนวทางป้องกัน ขอให้มาหาหมอเร็วๆ เท่านั้น

โรคพาร์กินสันเป็นส่วนหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่เป็นกันมาก รองจากอัลไซเมอร์ เกิดจากโปรตีน Alpha-Synuclein ที่สะสมผิดปกติ ทำให้สารสื่อประสาทโดพามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวลดลง ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า การดำเนินโรคพาร์กินสันค่อนข้างช้า จึงสังเกตอาการผิดปกติได้ยาก ทำให้การวินิจฉัยช้าไปด้วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาเมื่อการดำเนินของโรคเข้าสู่ระยะกลางแล้ว 

การดำเนินของโรคแต่ละระยะเป็นอย่างไร

1. ระยะนำ อาการ คือ มีปัญหาการนอนละเมอ ซึมเศร้า ท้องผูก ได้กลิ่นลดลง เริ่มมีอาการทางการเคลื่อนไหว มีอาการง่วงมากเวลากลางวัน 

2. ระยะเริ่มต้น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็ง สั่น เริ่มมีปัญหาความจำ อ่อนเพลีย มีอาการปวด 

3. ระยะกลาง การตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ ยุกยิก ความดันตกขณะเปลี่ยนท่า ปัสสาวะผิดปกติ บางส่วนเกิดภาพหลอนและมีปัญหาการกลืน รวมถึงเริ่มมีปัญหาการทรงตัว 

4. ระยะท้าย จะมีปัญหาการกลืน การทรงตัว หกล้ม ความจำเสื่อม และเห็นภาพหลอนก่อนจะเสียชีวิต โดยจะใช้เวลาถึง 10-20 ปีก่อนเกิดอาการ 

ย้ำชัดๆ ถึงเสียงสัญญาณเตือนภัยของโรค ประกอบด้วย 1.นอนละเมอ 2.ซึมเศร้า 3.ท้องผูก 4.ได้กลิ่นลดลง อาการเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุทำให้การวินิจฉัยไม่ชัดเจน เพราะพาร์กินสันไม่ได้มีอาการเดียว แต่มีทั้งอาการที่เกี่ยวกับเคลื่อนไหวและที่ไม่เกี่ยวข้อง แม้จะพบว่า 60-70% มีอาการสั่น แต่ไม่ใช่ทุกรายจะมีอาการสั่น และอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา 

ในงานเสวนามีการยกเคสผู้ป่วยดังต่อไปนี้

1. มีอาการนิ้วก้อยซ้ายกระดิกเอง ตอนอายุ 29 ปี ไปพบหมอบอกปกติดี และก็เป็นๆ หายๆ

2. เจ็บแขนด้านซ้าย เหมือนไม่มีแขน ตอนอายุ 48 ปี 

3. มีอาการตั้งแต่อายุ 58 ปี มือขวาสั่นขณะอยู่เฉยๆ เขียนหนังสือตัวเล็กลง เดินซอยเท้าถี่ ง่วงตอนกลางวัน ท้องผูกเรื้อรัง มีโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานที่ควบคุมได้ ดื่มสุราตามงานเลี้ยงสังสรรค์ และมารดาเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสันที่ทุกคนควรทราบ มี 3 ปัจจัยสำคัญ 1.การกระทบกระเทือนของศีรษะ 2.ประวัติครอบครัว 3.การได้รับสารเคมี โดยพบโรคพาร์กินสันสัมพันธ์กับการใช้ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในสมอง เกษตรกรที่ใช้สารเคมีเหล่านี้นานเกิน 1 ปีจึงเสี่ยงเกิดโรค 2 เท่ากว่าคนทั่วไป เพราะการสัมผัสของเกษตรกรมีทั้งการใช้โดยตรง สูดกลิ่น และใช้น้ำบาดาลที่อาจสัมผัสผ่านการปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร จังหวัดที่มีความชุกของการเกิดโรคพาร์กินสันสูงที่สุดในภาคกลาง โดยเฉพาะที่ชัยนาท 

ดังนั้นเกษตรกรต้องหาทางป้องกันตนเองเพื่อลดการสัมผัส หรือหันไปใช้สารออร์แกนิคทดแทน รวมถึงอาชีพนักมวยก็เสี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตามนอกจากการกระทบกระเทือนของศีรษะ และการสัมผัสสารเคมีแล้ว ปัจจัยเสี่ยงจากการสูดดมก็มีผลไม่แพ้กัน ทั้งสูดดมยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืชและ มลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 เพราะเมื่อเข้าโพรงจมูกแล้วจะเข้าก้านสมองต่อไป

ปัญหาคือไม่ใช่คนที่มีภาวะสมองเสื่อมทุกคนจะมีอาการ หากเสื่อมไม่ถึง 50-60% ดังนั้นการประเมินอาการพาร์กินสันต้องใช้หลายปัจจัยประกอบ ทั้งแบบสอบถาม ประวัติครอบครัว ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ระบุว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประเมินอาการแล้ว โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ทดสอบระบบดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำในระดับสูง พร้อมใช้ในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทย สำหรับกลุ่มที่มีอาการระยะแรก หรืออาการเสี่ยงเพื่อการป้องกันโรค รวมถึงการมุ่งเผยแพร่ข้อมูลโรคพาร์กินสัน ซึ่งปัจจุบันชมรมเพื่อนพาร์กินสันก็เข้ามาช่วยเหลืออย่างดี 

“สิ่งที่ศูนย์กำลังเร่งทำงานร่วมกับเครือข่าย อยู่ที่การค้นหาผู้ป่วย การรอให้ผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว เข้ามารักษาที่ศูนย์ฯ ทำได้เพียงการจ่ายยาเพิ่ม เราต้องการค้นหาผู้ป่วยระยะเตือนให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประเมินได้อย่างแม่นยำรองรับแล้ว ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ได้ทำจดหมายถึงโรงพยาบาล 1000 กว่าแห่งเพื่อนำมาทำกราฟจุดให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาให้ได้มากที่สุดพร้อมกันไปด้วย”ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ระบุ

มาดูวิธีป้องกัน โรคพาร์กินสันมีปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้เรียกว่า Eat Move Sleep หรือ กินดี นอนดี มีเวลาออกกำลังกาย ประกอบด้วย  

Eat : อาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักมาจาก ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว ปลา สัตว์ปีก น้ำมันมะกอก และไวน์แดง มีหลักฐานสนับสนุนว่าสามารถช่วยป้องกันและลดอาการของโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ เพราะมีสารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพสมอง เช่น แร่ธาตุ วิตามิน และอุดมด้วยไขมันดี โอเมก้า-3 เป็นต้น 

โดยพบว่าผู้สูงวัยที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการพาร์กินสันน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับประทาน และผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่องจะลดอาการของโรคพาร์กินสันทั้งอาการทางการเคลื่อนไหวและอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ไม่ได้รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น 

Move : ออกกำลังกายให้เพียงพอในระดับกลาง คือ ร่างกายเหนื่อย เหงื่อออก แต่ยังพูดเป็นประโยคได้ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สำคัญมากที่สุด คือ ต้องเคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่องในช่วงวัน อายุน้อยกว่า 60 ปีเดินให้ได้ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน อายุมากกว่า 60 ปี 6,000-8,000 ก้าวต่อวัน โดยให้เพิ่มจำนวนก้าวต่อวันไปเรื่อย 500 ก้าวต่อวันทุก 1-2สัปดาห์ ไม่ต้องกังวลความเร็วเดินให้ได้ 3,000 ก้าวต่อการเดิน 30 นาที 

ทำไมต้องส่งเสริมการออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นกลไกป้องกันหรือชะลอการดำเนินโรคพาร์กินสันนั่นเอง ทั้งช่วยเพิ่มสารป้องกันการเสื่อมของสมอง เพิ่มความแข็งแรงของการส่งกระแสประสาท เพิ่มจำนวนของสายส่งกระแสประสาท เปลี่ยนแปลงของตัวรับกระแสประสาท และส่งเสริมการทำงานของโดพามีน ผู้ที่ป่วยแล้วก็ยังสามารถออกกำลังกายได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกการเดินและการทรงตัว ลดการหกล้ม

Sleep : การนอนที่มีคุณภาพ ต้องนอนให้หลับลึกในตอนกลางคืน เพราะการนอนที่ไม่มีคุณภาพจะเกิดการสะสมของโปรตีนที่ทำให้เซลล์เสื่อม และสร้างสารอักเสบเพิ่ม Oxidative stress การนอนหลับที่มีคุณภาพ ถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่สามารถช่วยป้องกันโรคความเสื่อมทางระบบประสาท เนื่องจากในขณะหลับร่างกายจะมีกลไกช่วยกำจัดโปรตีนของเสียที่เป็นสาเหตุของโรคความเสื่อมของระบบประสาท

การนอนหลับที่ดี ประกอบไปด้วยระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมตามช่วงอายุ และคุณภาพการนอน โดยสามารถหลับได้ต่อเนื่องครบวงจรของทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และไม่มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงตื่นนอน เช่น ไม่ง่วงนอนระหว่างวัน มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานที่ดี อารมณ์ดีร่วมด้วย นอกจากนี้อาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการนำ (prodromal symptom) ที่สำคัญของการเกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่ อาการนอนละเมอผิดปกติเรื้อรัง (REM sleep behavior disorder, RBD) 

โดยมีข้อแนะนำการนอนดังนี้

1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา

2. ไม่ดูทีวี มือถือ หน้าจอที่มีแสงอย่างน้อย 1-2 ชม.ก่อนเข้านอน เพราะแสงสีฟ้าจะไปขัดขวางการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น หลั่งออกมากสมองในช่วงพระอาทิตย์ตกดินสูงสุดในเวลากลางคืน ทำให้รู้สึกง่วงนอนเป็นกลไกการทำงานของร่างกาย ที่จะบอกเราว่าถึงเวลานอนแล้ว 

3. ไม่รับประทานอาหารมื้อใหญ่ ออกกำลังกายหนักก่อนเข้านอน 2-4 ชม. 

4. ทำสิ่งแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน

5. ไม่ทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอนบนที่นอน

6. ลดปริมาณดื่มน้ำหลังมื้ออาหารเย็น และปัสสาวะก่อนเข้านอน

7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

8. ออกไปรับแสงแดดในช่วงเช้า

9. ไม่นอนกลางวัน หรือนอนไม่เกิน 30 นาที 

สิ่งที่สำคัญของการดูแลสุขภาพสมอง โรคพาร์กินสันไม่ได้มีแค่ยารักษาโรคแต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว ที่ต้อง Eat Move Sleep ไปพร้อมๆ กัน และต่อเนื่อง