กระทรวงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) อย่างต่อเนื่อง หลังปีนี้พบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข โค กระบือ แมว ลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู กระต่าย เป็นต้น โดยให้ป้องกันควบคุมโรคอย่างถูกวิธี ด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกสุนัขแมวกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้ว่าแผลจะมีขนาดเล็ก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและเข้ารับวัคซีนตามกำหนดให้ครบโดส
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า การพบโรคพิษสุนัขบ้าในวัว ประชาชนจึงต้องระมัดระวังการชำแหละหรือรับประทานเนื้อวัวดิบ เพราะสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินเนื้อวัวดิบหรือสุกๆ ดิบๆ จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่นำวัวที่ป่วยหรือตายผิดปกติ มาประกอบอาหาร รวมถึงแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีหากพบว่าสัตว์มีอาการผิดปกติ
ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คนเป็นโรคที่มีความรุนแรง ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ปี พ.ศ.2567 พบผู้เสียชีวิตยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เสียชีวิตพบว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ข่วน แล้วไม่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียชีวิตถูกสุนัขของตนเองกัด และไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อพบว่าป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จึงทำให้เสียชีวิตในที่สุด
พญ.ลานทิพย์ เหราบัตย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ให้ข้อมูลว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล โดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดติดเชื้อ หากได้รับเชื้อจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตทุกราย
ทั้งนี้ปัจจุบันประชาชนเลี้ยงแมวและสุนัขมากขึ้นและเลี้ยงอย่างใกล้ชิด โดยมีความเชื่อว่า สุนัขหรือแมวที่ตัวเองเลี้ยงปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วนจึงไม่ล้างแผลและไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเอง จากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค อย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที
ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง 3.พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเพื่อจำกัดการเพิ่มจำนวนของสัตว์เลี้ยง 4.หากพบว่าสุนัข แมว เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ 5.หากพบเห็นสุนัขจรจัด สามารถแจ้งอบต. หรือเทศบาลใกล้บ้าน
แนะนำวิธี หรือเทคนิค การลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัด หรือทำร้าย การลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ
1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ
2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ
3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร
5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
พญ.ลานทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำให้ประชาชน ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ หากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควร “รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผล อย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน และห้ามปิดแผล กักสุนัขแมวที่กัดเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดวัคซีนให้ครบทุกเข็ม เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนกระตุ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งเฝ้าระวังโรคในสัตว์ หากพบว่าตนเองสัมผัสเสี่ยงสูงกับสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและรับให้ครบทุกเข็ม