การพัฒนาขีดความสามารถของแพทย์รุ่นใหม่ให้มีศักยภาพทัดเทียมระดับนานาชาติ นับเป็นอีกภารกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล หรือ‘Prince Mahidol Award Youth Program’ ที่ดำเนินงานมาเป็นเวลาถึง 16 ปี
โครงการนี้ได้มอบโอกาสให้แก่เยาวชน เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อสัมผัสทักษะการทำงานระดับนานาชาติ ร่วมกับสถาบันระดับโลกหรือนักวิจัยที่มีชื่อเสียง ในเรื่องที่สนใจเป็นเวลา 1 ปี อาทิ มหาวิทยาลัย Harvard, Johns Hopkins, UCLA, Mayo Clinic ฯลฯ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งได้ร่วมทำงานในโครงการเยาวชนฯ นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของโครงการนี้ต่อประเทศไทยว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ริเริ่มจัดตั้ง ‘โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 วัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
แนวคิดมาจาก ศาสตราจารย์ ดร. Nevin S. Scrimshaw อดีตประธาน International Nutrition Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา และอดีตกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งท่านได้แนวคิดมาจากโครงการ Youth Program ของWorld Food Prize ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่า เยาวชนไทยก็มีศักยภาพในการช่วยประเทศชาติในอนาคตได้เช่นเดียวกับเยาวชนของ World Food Prize จึงมีการประชุมเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการเยาวชนฯ ร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง โดยมูลนิธิฯ มีมติให้ทุนแก่นิสิตนักศึกษาแพทย์เป็นกลุ่มแรกก่อน และอาจขยายการให้ทุนไปสู่เยาวชนที่เรียนด้านการสาธารณสุข และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ ต่อไป
โครงการเยาวชนฯ มีเป้าหมายหลักเพื่อ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท โดยมอบทุนในระยะเวลา 1 ปี แก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือก ไปปฏิบัติงานเพื่อศึกษาหรือวิจัยและพัฒนาแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของไทย ตลอดจนสร้างเครือข่ายงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในอนาคต
ในแต่ละปี มูลนิธิฯ จะมอบทุนทั้งสิ้น 5 ทุน โดยผู้สมัครจะต้องเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่5 และเป็นตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์สถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ 24 แห่ง แต่ละสถาบันสามารถส่งผู้สมัครได้ไม่เกินแห่งละ 3 คน
หลักเกณฑ์พิจารณามี 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1) Profile 2) คะแนนภาษาอังกฤษ 3) การเขียนโครงการ ว่าสนใจอยากศึกษาทำวิจัยเรื่องใด เน้นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทย หรือโรคบางชนิดที่ต้องศึกษาทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการ วิจัยทางคลินิก หรือการพัฒนาระบบการแพทย์ (Health System)
การคัดเลือกผู้ได้รับทุนเป็นไปอย่างเข้มข้น โดย เชิญผู้แทนจากสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก ปัจจุบันมีกรรมการ 24 ท่าน กลั่นกรองผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยพิจารณาจากประวัติ และโครงการที่เสนอมาเพื่อพัฒนาการแพทย์หรือการสาธารณสุขที่สำคัญ โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน จะพิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย
สำหรับแนวทางการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ให้ได้รับทุนนั้น จะมีการกลั่นกรองผู้สมัครอย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าได้เยาวชนที่มีทั้งความดีและความเก่ง มีทัศนคติที่ดีต่อโครงการนี้ และสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล องค์พระบิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขแผนปัจจุบันของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมา ผู้รับพระราชทานทุนมีความสนใจและทำโครงการที่หลากหลาย และพยายามเชื่อมโยงการแพทย์เข้ากับงานในสาขาอื่นๆ เช่น Basic Medical science research/ Translation research, Clinical research, Health system/Policy รวมไปถึงงานด้านInnovation/ Novel Technology ยกตัวอย่าง โครงการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานโดยการวิเคราะห์เสียงผ่านระบบปัญญา ประดิษฐ์ หรือ AI เป็นต้น
นับตั้งแต่มอบทุนแก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 จนถึง พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับพระราชทานทุนไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 68 คน หรือ 14 รุ่น ทุกคนได้รับโอกาสไปปฏิบัติงานในสถาบันชั้นนำ และมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ สร้างโอกาสให้ผู้รับพระราชทานทุนได้เปิดโลกทัศน์ เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ใหม่ๆ และสั่งสมประสบการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการใช้ชีวิตในต่างประเทศ
โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนในโครงการเยาวชนฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในฐานะที่ทุกคนเป็นเสมือนตัวแทนของประเทศไทย สร้างความประทับใจที่ดีแก่อาจารย์ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ (International Mentor) ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกกลับมาว่า เยาวชนผู้ได้รับทุนมีศักยภาพสูง มีแนวคิดในการทำวิจัยที่ดี
ผลการวิจัยบางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับโลก เช่น Nature, Neurology, World Journal Hepatology, Journal Neuro-Oncology, American Heart Journal, American Journal Ophthalmology, Science, Nature Genetics และ Lancet Respiratory Medicine เป็นต้น รวมแล้วถึง 78 ผลงาน นำไปสู่การพัฒนาวงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยและโลกให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนหลายคนได้รับทุนวิจัยและศึกษาต่อในต่างประเทศ มีผู้เดินทางกลับมาทำงานแพทย์จำนวน 56 คน ทุกคนมีมิตรภาพอันดีกับ Mentor ต่างประเทศ สร้างเครือข่ายงานวิจัยในระยะยาว และมีความร่วมมือระหว่างสถาบัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา เครือสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น สามารถทำงานวิจัยที่สนใจต่อไป และ ทุกคนกำลังเติบโตขึ้นตาม career path ที่ตนเองวางไว้
ที่ผ่านมามีการเชิญ Mentor ต่างประเทศ มาร่วมในการสอนให้ความรู้ในหลายแขนง เช่น เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ด้านพิษวิทยา เป็นต้น มีการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุกับ 3 หน่วยงานของประเทศสวีเดน (Helsingborg Hospital, Vrinnevi Hospital, Lund University) เพื่อพัฒนาศักยภาพและประสบการณ์ทางการแพทย์
ด้วยรากฐานการพัฒนาขีดความสามารถของนักศึกษาแพทย์ ที่โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ดำเนินการต่อเนื่องมานับสิบปี ปัจจุบันค่อยๆ ต่อยอดขยายผล จึงไม่ไกลเกินเอื้อมที่แพทย์ไทยจะได้รับรางวัลระดับโลก รวมถึง “รางวัลโนเบลไพรซ์” ในวันหนึ่งข้างหน้า