คาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลกในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 30% เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเตี้ย ภาวะบกพร่องด้านสติปัญญา และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต และจากการศึกษา พบว่าผู้ใหญ่ที่อ้วน 55% เคยอ้วนตอนเป็นเด็ก ดังนั้นเด็กอ้วนจึงมีความเสี่ยงที่จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ตั้งแต่อายุยังน้อย
สำหรับประเทศไทยประสบกับภาวะดังกล่าวเช่นกัน โดยโรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ล่าสุดไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย และบรูไน ทั้งนี้หากไม่แก้ไขอีก 5 ปี คนไทยอายุ 20 ปีขึ้น ไป 1 ใน 2 จะเป็นโรคอ้วน ซึ่งในปัจจุบันมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs รวมกว่า 33 ล้านคน เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละ 400,000 คน มีการใช้งบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการรักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 62,138 ล้านบาท ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายแฝงจากค่าอาหาร ที่พัก ค่าเดินทาง การลางาน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
พญ. นงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการ “ยกระดับการสาธารณสุขไทย เพื่อให้คนไทยสุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” โดยในปี 2568 มุ่งเน้นการขับเคลื่อน นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจาก NCDs รายใหม่ และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า เพราะโรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม
รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คนดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน
กรมอนามัยแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก สำหรับขนมหวานไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งผลักดันนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อระดมทุกภาคส่วนของสังคมไทย ให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงาน ตามหลัก 3 ป. คือ ป.1 ป้องกัน ด้วยการสร้างความรับรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ป.2 ปลูกฝัง ด้วยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ให้เด็กได้เรียนรู้ดูแลตัวเองได้ในอนาคต และ ป.3 ปราบปรามอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพไม่ให้อยู่ในโรงเรียน
“ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยประสบปัญหาด้านสุขภาพในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็กที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งโรคอ้วน เป็นสาเหตุสำคัญของการตายก่อนวัยอันควร”
ทั้งนี้ปัจจุบัน กรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน โดยมี “โรงเรียน” เป็นพื้นที่สำคัญของการดำเนินงาน ภายใต้โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล เพื่อมุ่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นอาวุธที่สำคัญให้กับเด็กเยาวชนในการใช้ชีวิตตามแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน ตลอดจนจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอันจะนำไปสู่การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ