back to top

ภก.ผดุงยศ พิสุทธาดามงคล กระแสรักสุขภาพมาแรง ตลาดยาเติบโตทะลุเกือบ 2 แสนล้าน

สังเกตกันไหมว่า ตอนนี้ร้านยาผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วทุกมุมตึก และในห้างสรรพสินค้ามีร้านยาใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก สถานการณ์นี้เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด 19 ที่ทำให้ทุกคนหันมาดูแลรักษาตัวเอง ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย และนโยบายรัฐที่ต้องการลดความแออัดในโรงพยาบาล แต่ให้มารับยาใกล้บ้านได้ตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ตลาดยาเติบโตอย่างมาก รวมๆ แล้วมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี

ภก.ผดุงยศ พิสุทธาดามงคล นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) เล่าสถานการณ์ให้ฟังว่าตลาดยาเติบโตเชิงบวก (positive growth) เพราะยาเป็นปัจจัยสี่ในชีวิต นอกจากนั้นในช่วงโควิดทุกคนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ยิ่งหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นมีโรคเรื้อรัง และติดโควิดมีโอกาสจะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ทุกคนจึงตระหนักถึงเรื่องการกินยาให้ครบ และส่วนหนึ่งยังเติบโตจากการที่ภาครัฐสนับสนุนการใช้สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร นอกจากนี้การตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น วิตามิน วิตามินซี และอาหารเสริม เติบโตตามไปด้วย 

อีกปัจจัยของการขยายตัวของตลาดยา คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีผู้สูงอายุสัดส่วนมากกว่า 20% เรียกว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ หลายโรคมากับผู้สูงอายุ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคทางจิตเวช โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งคนไทยเป็นกันมากและต้องกินยาไปตลอดชีวิต ดังนั้น แนวโน้มผู้ป่วยสะสมก็จะเพิ่มเรื่อยๆ เมื่อประชากรวัยเกิน 60 ปีก็จะมีโรคติดตัวอย่างน้อย 1 โรค ประกอบกับการพัฒนายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้คนมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เท่ากับขยายเวลากินยาให้นานขึ้นอีก อุตสาหกรรมยาจึงเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย 

ตลาดยายังเติบโตจากการท่องเที่ยวด้วย โดยก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวใกล้ๆ 40 ล้านคน ส่วนหนึ่งเข้ามารักษาพยาบาล หรือมาแล้วเกิดเจ็บป่วยก็ต้องรักษาที่เมืองไทย เพราะความพร้อมของสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง ได้มาตรฐานในระดับโลก ให้บริการทางการแพทย์ได้ครบวงจร โดยทั่วโลกให้การยอมรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีแพทย์ เภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญ รองรับความต้องการในการรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติ 

หากเทียบกับในต่างประเทศ การพบแพทย์เฉพาะทางเป็นเรื่องยาก เช่น โรคหัวใจ ต้องเริ่มจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (family doctor) ก่อน แล้วมาแพทย์อายุรกรรม รอ 6-7 เดือน ขณะที่ประเทศไทยมีระบบการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า เช่น ถ้าเป็นโรคหัวใจ เดินเข้าไปโรงพยาบาลพบแพทย์ได้เลย ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลทำได้ดี การรักษาผู้ป่วยทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา จะพบว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ มีคนไข้ต่างชาติสูงมาก เพราะเชื่อมั่นการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ที่สำคัญราคาเข้าถึงได้ อัตราค่าบริการในการรักษาพยาบาลมีความเหมาะสมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มาแล้วยังมีสถานที่เที่ยวด้วย ผู้ติดตามได้พักผ่อน ทำให้ภาพใหญ่ตลาดนี้เติบโต และมองว่ายังขยายตัวไปอีกหลายปี 

ส่วนการดูแลคนในประเทศนั้น นโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องสุขภาพเต็มที่ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ว่า คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ไม่ว่า กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสุขภาพส่วนตัว ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ นับว่าเรามีเป็นระบบดูแลสุขภาพที่ดีมาก

ส่วนปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐ ภาครัฐก็มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพยายามลดความแออัดให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นตามที่แพทย์วินิจฉัย ที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเข้ารับการตรวจรักษาเสร็จแล้ว สามารถไปขอรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ที่ร่วมโครงการกับโรงพยาบาลได้ ช่วยลดขั้นตอนการรอรับยานานๆ ที่โรงพยาบาล ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนั้นด้วยความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ เป็นต้น ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถในการเข้าถึงการรักษาของประชาชนดีขึ้น และรวดเร็วขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดยาเติบโต และส่วนหนึ่งยังเติบโตจากการที่ภาครัฐสนับสนุนการใช้สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น วิตามิน วิตามินซี และอาหารเสริม 

ด้วยปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ทำให้มูลค่าตลาดยาบ้านเราพุ่งสูงไปถึงปีละประมาณ 2 แสนล้านบาทแล้ว โดยแต่ละปีมีอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 5% แม้ช่วงโควิดก็ยังเติบโตได้ดี ในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตเป็นเลข 2 หลักส่วนหนึ่ง เพราะปีนี้ทุกคนออกมาทำกิจกรรมแล้ว ไปพบแพทย์ได้ปกติ โอกาสในการใช้ยา เข้าถึงการรักษาและการบริโภคยาก็ยิ่งมากขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเติบโตของตลาดยา ทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ สนใจเข้ามาในธุรกิจและการจำหน่ายยา เช่น ปตท. เซ็นทรัล เซเว่นอีเลิฟเว่น ถือว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันสูง คนไข้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ราคายาก็จะถูกลง 

สำหรับบทบาทของเภสัชกรการตลาดและผู้แทนยา ภก.ผดุงยศ นับว่ามีความสำคัญมาก ทุกคนต้องใช้ความรู้ (Knowledge) เป็นหลักในการทำงาน และมีจริยธรรม เพราะทำงานเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของประชากร ดังนั้น ข้อมูลที่ให้ต้องถูกต้อง มีหลักฐานงานวิจัยทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยรองรับ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะเผยแพร่ได้ 

ที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนต่อบทบาทผู้แทนยาที่ใช้กลวิธีที่หลากหลายในการทำงาน จนบางครั้งกระทบต่อภาพลักษณ์วิชาชีพ ภก.ผดุงยศ ย้ำว่า ทางสมาคมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เภสัชกรการตลาดและผู้แทนยาจะใช้เกณฑ์จริยธรรมสูงสุด ต้องไม่มีการโอ้อวดโฆษณาเกินจริง ต้องพูดตามผลการรักษา และงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับ ให้ทั้งข้อมูลเชิงผลการรักษา ผลข้างเคียงและข้อจำกัดเพราะยาเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติซับซ้อน

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าการพูดคุยกันระหว่างแพทย์และผู้แทนยา สามารถทำได้ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ข้อมูลยาแก่แพทย์ ยาแต่ละตัวก็มีผลในการรักษาที่แตกต่างกันไป แต่การตัดสินใจเลือกยารายการใดเข้าสู่โรงพยาบาลจะเป็นไปตามขั้นตอนของโรงพยาบาล มีคณะกรรมการยาของแต่ละแผนกนำข้อมูลงานวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยยาที่ได้รับมาพิจารณา แล้วจึงดูว่าราคาเหมาะสมหรือไม่

เราจะเห็นหลายครั้งมีผู้แทนยาต้องรอพบแพทย์ตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล ภก.ผดุงยศ อธิบายว่า สัดส่วนช่องทางกระจายยา ยังมาจากโรงพยาบาลมากที่สุด 80% เพราะไทยยังเป็นลักษณะให้คนไข้รับยาที่โรงพยาบาลเป็นหลัก หากเป็นต่างประเทศ เช่น สหรัฐ รับใบสั่งยาจากโรงพยาบาลต้องไปรับที่ร้านยาและประเทศอื่นเวลาคนไข้ไปพบแพทย์ต้องนัดก่อน แพทย์จึงมีตารางเวลาตรวจชัดเจนกี่คนต่อวัน เช่น วันนี้มีนัดตรวจ 10 คน แต่ประเทศไทยแตกต่างออกไป เนื่องจากแต่ละวันมีคนไข้จำนวนมาก โดยที่แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า วันนี้จะตรวจคนไข้กี่คน ทำให้แพทย์มีเวลาว่างไม่มากในแต่ละวัน แต่ผู้แทนยามีหลักการทำงานว่า ต้องไม่รบกวนเวลาการรักษาพยาบาลของคนไข้ 

ที่สำคัญต้องมีความรู้ ตามมาตรฐานทั้งความรู้เรื่องยา โรค ด้านเกณฑ์จริยธรรม และมีการทดสอบก่อนออกไปทำงาน โดยเฉพาะเกณฑ์จริยธรรมสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) หรือ MPAT Code of Conduct กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติตัว โดยมีใบประกาศให้เมื่อเภสัชกรการตลาดและผู้แทนยาผ่านการเรียนและการทดสอบแล้ว เป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและอย. ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 2,000 คนแล้ว 

มาดูร้านยากันบ้าง ตอนนี้เราจะเห็นร้านยาชุมชนเดิมๆ ปิดตัวไป บางร้านเปลี่ยนไปขายอย่างอื่น มีร้านยาสมัยใหม่มาแทน ภก.ผดุงยศ บอกว่า มีกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำการตลอดเวลาทำการ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยในการใช้ยาของคนไข้และประชาชน ถ้าช่วงไหนเภสัชกรไม่อยู่ ร้านยานั้นจะขายได้แค่ยาทั่วไป เช่น ยาลดไข้ทั่วไป แต่ยาอันตรายห้ามขาย ส่วนร้านที่ไม่มีเภสัชกรจริงๆ ก็มีการปรับตัวหันไปขายวิตามิน อาหารเสริม อุปกรณ์การแพทย์ รถเข็น ไม้เท้า เป็นต้น ทั้งนี้การบังคับให้มีเภสัชกร ถึงแม้ทำให้ต้นทุนร้านยาเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ได้ประโยชน์ ร้านขายยาก็มีคุณภาพดีขึ้น สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ทั้งนี้การกำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำร้านยา ทำให้มีแนวโน้มจะผลิตมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมี 19 สถานศึกษาที่เปิดคณะเภสัชกรรม ผลิตบุคลากรออกมารองรับได้ปีละมากกว่าพันคน 

ในตอนท้าย ภก.ผดุงยศ ฝากเตือนประชาชนว่า ปัจจุบันมีการขายยาผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะการส่งมอบยา กฎหมายระบุให้ต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร เพื่อสามารถอธิบายคนไข้ได้ ดังนั้นประชาชนต้องไม่ซื้อยาทางออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง